แสงสลัวในหัวใจโพล้เพล้
Published On
14:48
By
คขข
Angelina Nikonova วิพากษ์สังคมรัสเซียในปัจจุบันผ่านผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกจากการกำกับของเธอ โดยมี Olga Dykhovichnaya แสดงนำ ร่วมโปรดิวส์และเขียนบทด้วยกัน ทั้ง2สาวช่วยกันถ่ายทอดภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมนี้ อันบรรจุความคิดที่กล้าหาญ ท้าทาย โดยกวัดแกว่งติแผ่ปัญหาต่างๆในสังคม ปัญหาครอบครัวทั้งรากหญ้าและชนชั้นกลาง ตลอดจนปัญหาการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงต่อสตรี การล่วงละเมิดทางเพศเด็กโดยพ่อแม่เอง การรังแกประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจและหน่วยราชการต่างๆ หรือแม้แต่การดูถูกเหยียดหยามคนอื่นจากสิ่งที่เห็นเพียงเปลือกนอกของผู้คน รวมทั้งความมีน้ำใจที่เหือดหายไปจากสังคม
Twilight Portrait หรือ Portret v sumerkakh เล่าถึง มารีน่า(Olga Dykhovichnaya) หญิงสาวชนชั้นกลางที่ดูผิวเผินเหมือนมีชีวิตที่ราบรื่น มีเพื่อนฝูงที่ดี มีสามีที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี แต่ทุกอย่างนั้นมันดีแล้วจริงหรือ? มารีน่า ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์แผนกเด็ก ซึ่งแน่นอนเธอมักได้พบเห็นปัญหาเด็กถูกทำร้ายโดยคนใกล้ชิดมาบ้าง แต่มีอยู่เคสหนึ่งที่เธอให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั้นคือ เด็กสาวคนหนึ่งที่ถูกพ่อแท้ๆข่มขืน จนมีอาการซึมเศร้า มารีน่าพยายามแก้ปัญหาโดยคุยกับผู้เป็นแม่ของเด็ก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ในขณะที่งานมีปัญหา แต่ชีวิตส่วนตัวของมารีน่ากลับมีปัญหายิ่งกว่า เธออยู่กินกับสามีนักธุรกิจที่ไม่ค่อยมีเวลาให้นักและไม่อยากมีลูก ด้วยความหงอยเหงาเธอจีงแอบนัดกับชู้รัก เพื่อมีเซ็กส์ในโรงแรมแห่งหนึ่งย่านดาวน์ทาวน์ แต่หลังจากแยกย้ายกับชู้รัก สิ่งที่เลวร้ายอย่างไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับเธอ เมื่อเธอถูกตำรวจ3คนรุมข่มขืนอย่างโหดเหี้ยม ขณะหารถแท็กซี่กลับบ้าน มารีน่าไม่ได้บอกใครนอกจากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเธอก็พยายามหาทางแก้แค้นด้วยวิธีของเธอเอง รวมทั้งหาวิธีการช่วยเหลือเด็กสาวคนนั้นด้วย
มีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำให้ผมรู้สึกถึงตรรกะแนวคิดบางประการ นั้นคือฉากที่มารีน่ายืนต่อคิวซื้อของกินอยู่ ในขณะนั้นเองมีชายวัยกลางคนคนหนึ่ง เข้ามาเสนอขายกล้องถ่ายรูปดิจิตอลให้ โดยบอกว่ามีความจำเป็นต้องการเงินไปซื้อยา จึงอยากขายกล้องที่ลูกสาวซื้อให้เป็นของขวัญ แล้วก็พยายามอธิบายสัพคุณของกล้องอันนี้ว่ามีฟังก์ชั่นTwilight Portrait (คือถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเอง) มารีน่าตัดสินใจช่วยซื้อให้ ในขณะที่คนยืนต่อแถวใกล้ๆกันมองว่าเป็นเรื่องถูกหลอก โง่ๆ
ผมรู้สึกได้ทันทีเลยว่า บางครั้งคนบางคนก็กลัวเหลือเกินกับการเป็นคนโง่ ที่จริงแล้วการจะช่วยเหลือคนอืนหรือไม่นั้น มีผลลัพธ์อยู่แค่2อย่างเมือตัดสินใจผิดพลาดนั่นคือ ถ้าเราช่วยเหลือเขา แต่สุดท้ายรู้ว่าถูกเขาหลอกเราก็จะกลายเป็นคนโง่ กับ การที่เราไม่ยอมช่วยเหลือเขาทั้งที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เราก็จะกลายเป็นคนไม่มีน้ำใจ เราทุกคนต่างรู้ดีว่า2อย่างนี้อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน มารีน่าเองก็เช่นกันเธอเลือกที่จะช่วยเขา เพราะเธอเองก็เคยประสพเหตุการณ์ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แต่กลับไม่มีใครยอมช่วยเหลือมาก่อน สำหรับมารีน่าแล้ว ความโง่เป็นแค่ปัญหาของปัจเจกบุคคล แต่ความไม่มีน้ำใจต่างหากที่เป็นปัญหาของสังคม
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจนำเสนอไปไกลกว่านั้นเพราะนอกจากความไม่มีน้ำใจแล้ว ความอำมหิตที่ซ่อนในจิตใจของมนุษย์ก็เช่นกัน คนโง่ฆ่าใครไม่ได้ถ้าปราศจากความอำมหิต ราวกับว่าที่สังคมมีแต่ความวุ่นวายไม่ใช่เพราะว่าสังคมเต็มไปด้วยคนโง่ๆ แต่เพราะว่าสังคมเต็มไปด้วยคนที่จิตใจอำมหิตต่างหาก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น: