Navigation Menu

Tangerines (2013) วิกฤตไร่ส้ม : เมื่อมนุษย์ถูกแบ่งแยกด้วย'ชาติ'

 เป็นหนังที่ว่าด้วยศักดิ์ศรี ความเชื่อ อคิติ และมิตรภาพ ปีนี้หนังที่โดนใจผมอย่างแรงจะเป็นหนังเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก Tangerines หรือ วิกฤตไร่ส้ม หนังเอสโตเนียที่ฝ่าด้านหนังตัวเต็งสาขาหนังต่างประเทศ โดยสร้างเซอร์ไพรส์เล็กๆด้วยการเข้าชิงลูกโลกทองคำ และเซอร์ไพรส์หนักขึ้นไปอีกเมื่อได้เป็น1ใน5หนังเข้าชิงออสการ์2015นี้ โดยเขีย Corn Island, Lucia de B และ Force Majeure ออกไปและยังเป็นหนังเอสโตเนียเรื่องแรกที่ได้ชิงออสการ์หนังต่างประเทศอีกด้วย
     เมื่อออสการ์คราวที่แล้ว ผมสะดุดใจกับหนังเรื่อง Omar (2013) ว่าด้วยความขัดแย้งอิสราเอล–ปาเลสไตน์ (ในมุมมองของปาเลสไตน์) แต่มาคราวนี้ ผมค่อนข้างเทใจให้กับคุณปู่ไร่ส้มใน Tangerines อย่างมาก หนังที่มีฉากหลังเป็นสงครามจอร์เจีย-อับฮาเซีย ปี1992 (ในมุมมองของทุกฝ่าย) สงครามนี้มีที่มาคร่าวๆดังนี้ครับ หลังจากสหภาพโซเวียตล้มสลาย จอร์เจียแยกตัวออกมา และถือว่าอับฮาเซียเป็นส่วนหนึ่งของจอร์เจีย ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาประเทศ แต่อับฮาเซียเองต้องการแยกประเทศออกจากจอร์เจียอีกที จอร์เจียจึงส่งทหารมาปราบจนเกิดการสู้รบปล้นฆ่ากับคนในพื้นที่ ทำให้รัสเซียยืนมือเข้ามาช่วยอับฮาเซีย โดยอ้างว่าต้องการปกป้องคนรัสเซียในพื้นที่นี้ ผลสรุปของสงครามนี้คือจอร์เจียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กลับไป
     แม้มันจะเป็นหนังสงคราม แต่ก็คงเป็นหนังสงครามที่เล็กที่สุดก็ว่าได้ เพราะเล่นกันอยู่แค่ไม่กี่คนเอง แต่นั่นไม่ได้ทำให้พลังของหนังดูน้อยเลยสักนิด Tangerines เป็นเรื่องราวของคุณปู่ช่างไม้ชาวเอสโตเนีย ที่อาศัยอยู่ในย่านหมู่บ้านชาวเอสโตเนียที่ตั้งอยู่ในอับฮาเซีย ช่วงเกิดสงครามรุนแรง ซึ่งชาวเอสโตเนียส่วนใหญ่ที่นี่ตัดสินใจอพยพกลับบ้านเกิด ในหมู่บ้านจึงเหลือคนไม่กี่คน หนึ่งในนั้นมี มากูส เจ้าของไร่ส้มที่อยู่บ้านใกล้ๆกัน ซึ่งคุณปู่ช่วยงานเขาอยู่(ทำลังใส่ส้มให้เขา) แต่ไร่ส้มของมากูสกำลังเกิดวิกฤตไปพร้อมๆกับสงครามนั่นคือไม่มีแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม แต่โอ้แม่เจ้า!..ปัญหาไร่ส้มยังแก้ไม่ตก ก็มีปัญหาใหม่เข้ามาอีกครับท่าน นั่นคือ ดันมีทหารจอร์เจียกับรัสเซียมายิงกันตายหน้าบ้านซะงั้น คุณปู่กับมากูสช่วยทหารที่รอดชีวิตไว้ได้ 2 นายแต่บาดเจ็บสาหัส ส่วนคนที่ตายก็เอาไปฝังในป่า แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทหาร2นายที่ช่วยมานั้นดันเป็นคนละฝ่ายกันแต่ต้องมาพักรักษาตัวอยู่ในบ้านคุณปู่ด้วยกันนี่สิครับ จนอาจเดาไม่ออกว่าใครจะฆ่าใครได้ก่อนกัน และเหตุการณ์ที่พลิกผันเป็นระยะๆก็เป็นเสน่ห์อันร้ายกาจของหนังเรื่องนี้ นอกเหนือไปจากการเฉือดเฉือนบทบาทของนักแสดงหลักทั้ง 4 คนที่มีคาแล็กเตอร์แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นนิสัยใจคอของพวกเขาผ่านการกระทำ และบทสนทนาพื้นๆ แต่กลับแฝงไปด้วยทัศนคติที่แหลมคม ทั้งในแง่สังคม ศาสนา วัฒนธรรม และดนตรี
ดนตรีนั้นคือชีวิต :
     ทหารคนหนึ่งรอดตายมาพร้อมเทปคาสเส็ทม้วนหนึ่งที่พังแล้ว เราเห็นเขานั่งค่อยๆซ่อมเทปม้วนนั้นอยู่ตลอด สิ่งที่เราคิดได้ตามมาก็คือเทปม้วนนั้นคงต้องสำคัญกับไอ้หมอนี่แน่ๆ หรือไม่เขาก็คงต้องชอบฟังเพลงแหงๆ แต่ขณะนั้นเพลงพื้นเมืองในวิทยุดังงุ้งงิ้งๆ เขาถึงกับขอให้เปลี่ยนเพลงได้ไหม เพราะเพลงนั้นมันทำให้เขาเครียด... ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือของศิลปินเพลงชาวจอร์เจีย Niaz Diasamidze นอกจากนั้นยังผนวกกับเพลงของศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับ Irakli Charkviani เจ้าของฉายาว่า "Mepe" (ภาษาจอร์เจียแปลว่า 'ราชา') ทหารรับจ้างชาวเชซเนียคนหนึ่งพูดว่า เขาก็ชอบเพลงจอร์เจียเหมือนกัน แม้จะถูกกัดว่า แล้วยังชอบแผ่นดินของจอร์เจียด้วยล่ะสิ...(เชอะ อารมณ์สีย!!)
ชาติ :
     ดูเผินๆเหมือนหนังจะเอนมาทางจอร์เจียเนื่องจากทีมงานและทุนสร้างเป็นจอร์เจียกับเอสโตเนีย แต่มันจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรือ? โดยเฉพาะฉากย่างบาร์บีคิวแบบเชเชน และเราจะเห็นทหารจอร์เจียมักยกเรื่องประวัติศาสตร์ในอดีตที่ดินแดนตรงนี้เป็นของจอร์เจียมาแต่เดิม แต่แล้วบทหนังกลับกัดเจ้าของทุนสร้างคำโตแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยประโยคของฝ่ายตรงข้ามที่ว่า 'อดีตจะสำคัญอะไร ในเมื่อ ณ.เวลานี้คุณย่างบาร์บีคิวไม่เป็น..' ซึ่งแน่นอนความจริง ณ.เวลานี้คือคนในอับฮาเซียที่นี่ ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นจอร์เจียอีกแล้ว.. และการบุกเข้ามาปล้นฆ่าคนในพื้นที่ก็คงหาความชอบธรรมได้ยากเต็มทีสำหรับจอร์เจีย แต่ก็ใช่ว่าหนังจะเข้าข้างอีกฝ่าย เพราะทหารรัสเซียก็ป่าเถื่อนโหดร้ายสุดๆไม่แพ้กัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ)
     หนังจิกกัดความเป็นชนชาติอยู่ตลอด ฉากคุณปู่กับเพื่อนบ้านเอาศพทหารไปฝังในป่าตอนต้นเรื่อง อยู่ดีๆคุณปู่ก็นึกขึ้นได้ว่าต้องฝังแยกกัน ไม่รู้จะขำหรือเวทนาดี ก็ตายหมดแล้วนี่ ยังแบ่งแยกอีกนะครับ หรือว่า 'ชาติ' เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์อุปโลกขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน และแผ่นดินที่แย่งกันนี้ตายไปก็เอาไปไม่ได้
ศาสนา :
     ในภาพยนตร์คู่กรณีของจอร์เจีย นอกจากจะมีอับฮาเซียกับรัสเซียแล้ว ยังมีตัวละครที่เป็นชาวเชชเนีย (หรือ เชเชน) ซึ่งในเรื่องเป็นทหารรับจ้างเป็นส่วนหนึ่งของทหารรัสเซีย ชาวเชชเนียส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
     แต่ที่น่าสังเกตุก็คือ Misha Meskhi ที่รับบทเป็นทหารจอร์เจียก็หน้าตาเหมือนแขกๆอยู่ แต่คนจอร์เจียส่วนใหญ่75%นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ ซึ่งในภาพยนตร์เมื่อมีบรรดาทหารเข้ามาในบ้าน ดูแค่หน้าตาคนในบ้าน ก็คงเดาไม่ออกเลยว่าใครเป็นชาติไหนกันแน่ ถ้าไม่ได้พูดคุย หรือฉากจอร์เจียกับสร้อยรูปไม้กางเขน ที่เชเชนพูดว่าไม่ต้องห่วงเราให้เกียรติทุกศาสนา ราวกับสงสัยว่าทำไมต้องคิดว่าคนอิสลามเกลียดคนคริสต์ ก็คุณทหารคนเดียวกันนี่แหละ ที่พูดว่า "ผมจะฆ่ามันเพื่อพระเจ้า" แล้วคุณปู่สวนว่า "ฆ่าคนที่ไม่มีทางสู้เนี่ยะ พระเจ้าคุณชอบเหรอ?" แน่นอนว่าศาสนาไม่ได้ทำให้คนแตกแยก แต่คนแตกแยกอาจใช้ศาสนามาอ้าง
อุดมการณ์ กับ อคติ :
     ทหารรัสเซียคนหนึ่งปักใจเชื่อว่า ทหารเชเชนคนหนึ่งเป็นทหารจอร์เจีย เลยบอกให้เขาพูดภาษาเชเชนให้ฟังหน่อยเพื่อพิสูจน์ โดยที่ตัวเองก็ฟังภาษาเชเชนไม่ออกอยู่ดี.. สุดท้ายก็ยังคิดว่าเขาเป็นจอร์เจียอย่างเดิม การยึดมั่นในความคิดมันดูใกล้ๆกับ 'อคติ'
      คุณปู่มักจะถามทหารว่า ทำไมถึงมาเป็นทหาร? นายมีครอบครัวหรือเปล่า? ทหารคนหนึ่งตอบว่าเขามีแม่เพียงคนเดียว แต่ทิ้งท่านมาเป็นทหารเพราะคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ฟังแล้วน่าชื่นชมในหนังเรื่องอื่น แต่ในหนังเรื่องนี้กลับกลายเป็นความน่ารังเกียจ คุณทิ้งแม่มาได้ยังไงกัน หรือแม้แต่ลูกชายคุณปู่จากไปบอกว่า"จะไปสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินของเรา" ทั้งที่คุณปู่บอกว่านี่ไม่ใช่สงครามของใคร ดูเหมือนความรักชาติเป็นสิ่งที่น่ากลัวไปเสียแล้ว เพราะมันทำให้คนทิ้งพ่อ ทิ้งแม่ แล้วลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันได้ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คุณปู่ถามว่าใครให้สิทธิในการฆ่าคนอื่นกับพวกนาย ทหารตอบว่าสงครามไง..
     Tangerines (2013) เป็นหนังที่ดีมีเนื้อหาที่เข้มข้น มันดูสนุกมากที่สำคัญมันซึ้งมากด้วย และอาจประทับใจในสไตล์ลูกผู้ชายตัวจริง (ถ้าIda เป็นหนังสไตล์ผู้หญิงที่สุดแห่งปี Tangerines ก็คงเป็นหนังสไตล์ผู้ชายที่สุดแห่งปี เช่นกัน)         



0 ความคิดเห็น: