Navigation Menu

Sons of Norway : เมื่อพังก์ปะทะฮิปปี้ ขบถเจอขบถ

Sons of Norway
: เมื่อพังก์ปะทะฮิปปี้ ขบถเจอขบถ

     เรื่องราวของครอบครัวเล็กๆอันแสนอบอุ่นครอบครัวหนึ่งที่มีอันต้องล้มสลายเมื่อพบกับโศกนาฏกรรมการจากไปของผู้เป็นมารดาอย่างกระทันหันจากอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้ผู้เป็นพ่อจมอยู่ในความโศกเศร้า พร้อมมีอาการแปลกๆเพี้ยนๆ และความสัมพันธ์ที่เริ่มเหินห่างกับลูกชายคนโตที่อยู่ในวัยสับสน
     นี่คือหนังว่าด้วยพ่อกับลูกชายอีกเรื่องที่จะทำให้คุณประทับใจ โดยเฉพาะการแสดงที่เทหมดน่าตักของ Sven Nordin ในบทคุณพ่อหัวก้าวหน้า สถาปนิกหนุ่มใหญ่ ผู้มีทัศนคติเปิดกว้าง นิยมฮิปปี้ นู้ด และจิตวิญาญเสรี ในขณะที่ลูกชายวัยรุ่นของเขา นิโคลัย กำลังหลงไหลดนตรีแนวพังก์โดยมี John Lydon หรือฉายา Johnny Rotten (ไอ้จ้อนเน่า) แห่งวง The Sex Pistols เป็นไอดอลของเขา

ทำไมต้องขบถ?

     ทั้งฮิปปี้ และพังก์ ล้วนเป็นแนวคิดขบถต่อสังคม ความหมายของ 'ขบถ' ในเรื่องนี้หมายถึงแนวคิดที่ต่างจากค่านิยมในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมีทั้งดีและไม่ดี มันคือหนังที่พูดถึงอิสระทางความคิด ที่ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด และได้เรียนรู้ คุณพ่อเข้าใจสิ่งนี้ดี แต่ครูใหญ่อาจไม่เข้าใจ
     ครูบาอาจารย์หรือผู้หลับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรจะสนับสนุนให้โอกาสหรือรับฟังทัศนคติ'ขบถ'ของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ต่อต้านแน่นอนว่า'ขบถ'เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องขบถแบบมีเหตุผลไม่ใช่ตามแฟชั่นตามกระแสหรือตามเพื่อนเฮไหนฮานั่น ดังคำที่ว่า "Learn the rules then break some" จงเรียนรู้กฏเกณฑ์แล้วทำลายมันซะบ้าง นั่นหมายความว่า ก่อนที่คุณจะขบถได้คุณต้องศึกษากฏเกณฑ์หรือหลักการต่างๆให้รู้จริงซะก่อน แล้วถ้าคุณพบว่าหลักการที่ยึดถือกันมายาวนานนั้นมีช่องโหว่ที่คนอื่นอาจมองข้าม และคุณคิดว่าคุณมีเหตุผลหักล้างที่เหนือกว่าคุณถึงจะ'ขบถ'ได้ แน่นอนว่าช่องโหว่นี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอกันได้ง่ายๆถ้าไม่เก่งจริง คุณต้องใช้ความคิดอย่างมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้รู้จัก'ขบถ' รู้จักคิดต่างไม่ใช่ทำตามๆกันเชื่อตามๆกัน เพราะคนเก่งจริงๆไม่ได้มีมาบ่อยนัก และแน่นอนต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

พังก์จริงหรือพังก์ปลอม ??

     นิโคลัยอาจสับสนในความเป็นพังก์ของตนและคุยกับพื่อนถึงพังก์จริง พังก์ปลอม ในขณะที่พ่อของเขาเป็นพวกฮิปปี้ แต่อยากมีส่วนร่วมกับพังก์ ถ้าความเป็นพังก์มองที่แนวคิดมากกว่าการแต่งตัว
อาจเป็นไปได้ที่ เด็กเรียนเรียบร้อยที่ชีวิตเรียบๆแต่มีความคิดเป็นของตนเองไม่เหมือนใคร ก็อาจมีความเป็นพังก์มากกว่า เด็กซ่าหลังห้อง ที่แต่งตัวตามแฟชั่นเลียนแบบดารานักร้องพังก์ร็อค และหลงคิดไปเองว่าตัวเองเป็นพังก์
     Sons of Norway (2011) ถูกพูดถึงว่าเป็นหนังที่แสดงทัศนะทางสังคมและการเมืองที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งที่มาในรูปแบบหนังวัยรุ่น Coming of Age สร้างจากหนังสือของ Nikolaj Frobenius




0 ความคิดเห็น: