Navigation Menu

Tender Waves : กระแสละมุน

Tender Waves (2013) เป็นภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ กระชุ่มกระชวยหัวใจ สุดครื้นเครง ตามแนวถนัดของผู้กำกับ Jirí Vejdelek อยู่แล้ว แต่ก็เป็นความครื้นเครงบนความตึงเครียด เพราะหนังใช้ฉากหลังเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ การเมืองอันร้อนระอุในปี 1989 ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยใน เชคโกสโลวาเกีย ที่เรียกว่า การปฏิวัติกำมะหยี่(The Velvet Revolution)

หนังพาเราไปพบกับชีวิตของVojta เด็กดีขี้อาย กับครอบครัวเพี้ยนๆของเขา อันประกอบไปด้วย คุณพ่อขี้โมโหที่ครั้งหนึ่งเคยทำผิดพลาดในการแข่งขันว่ายน้ำที่ช่องแคปอังกฤษ และคุณแม่คนสวยอดีตดาราสเก็ตน้ำแข็ง ทั้งที่มีครอบครัวแล้วแต่ก็ยังพราวสเน่ห์ ให้หนุ่มใหญ่หมายมาตีท้ายครัว อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ขี้โอ่ กับนักดนตรีรูปหล่อ

Tender Waves ไม่ได้เน้นประเด็นทางการเมืองมากนัก แต่เน้นประเด็นการเลี้ยงดูบุตรหลานของสถาบันครอบครัวมากกว่าในชั่วโมงพละทุกครั้ง Vojta ต้องไปนั่งเฉยๆข้างสนามดูเพื่อนๆเล่นบอล เด็กผู้หญิงนักเรียนใหม่จึงแปลกใจหันไปถามเพื่อนหญิงคนนึงว่า"นายคนนั้นเขาป่วยเป็นอะไรเหรอ?" เพื่อนเธอตอบกลับมาว่า "เปล่า เขาไม่ได้ป่วยเป็นอะไร แม่ของเขาต่างหากที่ป่วย" อืม เป็นคำตอบที่น่าคิดนะ มันคือมุกตลกจิกกัดการเลี้ยงดูเด็ก เพราะแม่ของVojta ขอครูไว้ ไม่อยากให้ลูกมือเจ็บกลัวจะเล่นเปียโนไม่ได้ Vojta เป็นเหมือนตัวแทนความหวังของทั้งพ่อและแม่ ทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีความต้องการให้ Vojta
เติมเต็มปรารถนาลึกๆในใจของพวกเขา พูดง่ายๆก็คือสนองNeedตัวเองนั่นเอง แม่อยากให้เขาเอาดีทางด้านศิลปะและดนตรี เพราะค้นพบพรสวรรค์ของเขาตั้งแต่เด็กๆ จึงพยายามฝึกฝนเขามา แม้ว่าวันสอบเข้าโรงเรียนดนตรีVojta จะเล่นเปียโนผิดพลาด เนื่องจากมือเคล็ด (แต่ไม่ใช่เพราะเล่นกีฬาอะไร แต่เป็นเพราะคืนก่อนสอบเขาใช้มือสำเร็จความไคล่ตัวเองมากไป)

ส่วนคุณพ่อยิ่งพิลึกหนัก เขาต้องการให้ลูกเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ โดยฝึกลูกตั้งแต่ยังเด็กเล็กมาก ทำให้ให้เขาจมน้ำ และโตมากลายเป็นคนที่กลัวการว่ายน้ำ และนี่เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญของเขา เพราะเขาดันไปแอบหลงรักสาวนักกีฬาระบำใต้น้ำ

Tender Waves เป็นหนังที่ดูสนุก ตลก สุดหรรษา และดนตรีประกอบที่อิ่มเอมใจ นอกจากนั้นยังได้ Vojtěch Dyk แห่งวง Nightwork มาทำเพลงประกอบให้อีกด้วย นอกจากจะแสดงเป็นครูดนตรีตัวปัญหาในเรื่อง

0 ความคิดเห็น:

Sweet Mud : เกิดแต่ตม


ในปี 2006 ถือเป็นปีที่แปลกประหลาด ของการแจกรางวัลทางภาพยนตร์ของอิสราเอล(Awards of the Israeli Film Academy 2006) (หรือออสการ์ของอิสราเอล) เพราะหนังที่ได้ Best Picture ของปีนั้นมี2เรื่อง (เป็นการรับร่วมกัน) และ1ใน2เรื่องที่ว่าก็คือ Sweet Mud หนังเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้นี่เอง (อีกเรื่องคือ Aviva, My Love (2006)) นอกจากนั้น Sweet Mud ยังได้เป็นตัวแทนประเทศไปชิงออสการ์ แม้จะไม่ผ่านเข้ารอบแต่หนังก็ได้รางวัลใหญ่ระดับสากลจาก 2 สถาบันในปี 2007 นั่นคือ สามารถคว้า Grand Jury Prize: World Cinema Dramatic จาก Sundance Film Festival 2007 มาครอง และ คว้า Crystal Bear จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival 2007)อีกด้วย
   
Sweet Mud เป็นหนังดีที่แสดงให้เห็นถึงความคิดอันหลายหลายของมนุษย์ และการแยกถูกผิดชั่วดีอาจไม่ใช่เรื่องที่จะมาตัดสินกันได้ง่ายๆ อีกทั้งขนบธรรมเนียมที่ถูกยึดถือกันมานั้นถูกสั่นคลอนด้วยคนตัวเล็กๆคนหนึ่ง
   
Sweet Mud ภาพยนตร์อิสราเอลกำกับโดย Dror Shaul เป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของตัวเขาเอง มันถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำในวัยเยาว์ของเขาที่เติบโตมาใน คิบบุตซ์ (kibbutz) กับความผูกพันธ์ที่มีต่อแม่ผู้ซึ่งมีภาวะทางจิตใจไม่ปกติ หนังถ่ายทำใน kibbutz ของ Ruhama และ Nir Eliyahu

คิบบุตซ์ (kibbutz) คืออะไร
เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก พากันอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานยังดินแดนที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ในครั้งนั้นชาวยิวส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมตามชนบท หรือที่เรียกว่า ‘คิบบุตซ์’ (Kibbutz) ปัจจุบันทั่วประเทศอิสราเอลมีคิบบุตซ์อยู่มากกว่า 250 แห่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากคิบบุตซ์จะเป็นนิคมเกษตรกรรม ยังเป็นเหมือนนิคมปกครองตนเองด้วย คล้ายๆระบบสังคมนิยม มีส่วนกลางในการบริหาร ตลอดจนการจำแนกแจกจ่าย และวางระเบียบการบริโภคผลผลิต แต่ก็มีการโหวตออกเสียงเมื่อมีความเห็นต่างแบบประชาธิปไตย ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงให้เห็นว่า สมาชิกทุกคนในนิคมจะต้องทำงาน โดยพวกเขาจะแบ่งหน้าที่กันในส่วนต่างๆ

นอกจากนั้นในคิบบุตซ์ ยังมีส่วนของสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน ดูแลเยาวชนของพวกเขาเอง ตั้งแต่ทารกไปจนถึงวัยเรียน เหมือนโรงเรียนประจำ คิบบุตซ์ เป็นสิ่งที่ชาวอิสราเอลภาคภูมิใจมาก เพราะมันนำความเจริญมาสู่ประเทศนับจากอดีต ทำให้ชาวโลกรู้ว่า พวกเขาเป็นสุดยอดเกษตรกร พวกเขาสามารถปลูกพืช ทำไร่ในทะเลทรายได้ ใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบพอเพียง แม้คิบบุตซ์จะเป็นสถานที่อันภาคภูมิใจของผู้คนด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง แต่สำหรับ Shaul มันคือคุกดีๆนี่เอง และก้ำกึ่งกับการละเมิดสิทธิ,ทารุณกรรม อีกทั้งความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น Shaul กล้านำเสนอมุมมองในอีกด้านมืด ผ่านสายตาช่วงวัยเยาว์ของเขา Sweet Mud แสดงให้เห็นถึงอคติดั่งหัวโขนที่สวมใส่ และพฤติกรรมที่ดูง่อยเปลี้ยของระบบ พวกเขาแบ่งปันผลผลิตอย่างเช่นคุณย่าของShaul ทำแยมแต่เธอก็จะแบ่งให้เฉพาะคนที่เธอพอใจเท่านั้น, ครูผู้ช่วยสาวคนหนึ่งคุยกับหัวหน้าต้องการเลื่อนขั้นเป็นครู หัวหน้าบอกเธอว่าครูต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่มากนะ "แน่นอน..คุณก็รู้ว่าฉันมีความรับผิดชอบในหน้าที่มาก" เธอตอบกลับ เขาจึงบอกเธอว่า งั้นตอนนี้ขอเอาเธอหน่อย เธอตอบว่าโทษทีฉันลืมเอาถุงยางมา หัวหน้าจึงตำหนิเธอว่า ไหนบอกมีความรับผิดชอบในหน้าที่ไง..แค่นี้ยังลืม?? หนังเสียดสีตั้งแต่เรื่องเล็กๆไปยังเรื่องเลวร้ายสุดๆ นี่ยังไม่รวมถึงเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่แอบมีเซ็กส์วิตถารกับสัตว์ในฟาร์มที่เขาเลี้ยง น่าทึ่งที่ Shaul กล้าตีแผ่ความเลวร้ายใน คิบบุตซ์  แต่ที่น่าที่งยิ่งกว่าคือ ความใจกว้างของคนอิสราเอลกล้ายอมรับหนังเรื่องนี้ และยกย่องมันเป็นหนังยอดเยี่ยม แถมยังเป็นตัวแทนประเทศไปชิงออสการ์อีกด้วย
   
Sweet Mud เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 1974 กล่าวถึง Dvir (Tomer Steinhof) หนุ่มน้อยผู้กำลังจะอายุครบ13ปี เตรียมเข้าพิธีบาร์ มิตซวาห์ (bar mitzvah คือ พิธีฉลองทางศาสนาของชาวยิวให้กับเด็กอายุ 13 ปี กล่าวคือ เด็กชายยิว เมื่ออายุ 13 ปี จะต้องเข้าพิธีเพื่อแสดงว่าพวกเขาได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่หลังจากที่ผ่านพ้นอายุ 13 ปีไปแล้ว) Dvir อาศัยอยู่กับพี่ชาย Eyal (Pini Tavger) และแม่ของพวกเขา Miri (Ronit Yudkevitz) ในคิบบุตซ์ Miri จะถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบำบัดทางจิตบ่อยครั้ง Dvirและพี่ชายยังคงดูแลแม่ของพวกตนในขณะที่ความลับการจากไปของผู้เป็นบิดากำลังจะถูกเปิดเผยในไม่ช้า พร้อมๆกับการมาเยือนของชายชาวสวิสคนรักใหม่ของแม่ ผู้มีส่วนทำให้เรื่องราวในชีวิตของ Dvir พลิกผัน ในขณะที่รักแรกของวัยรุ่นกำลังเบ่งบาน เมื่อเขาพบกับ Maya (Daniel Kitsis) เด็กสาวมาใหม่จากฝรั่งเศส Sweet Mud เป็นหนัง Coming of age ที่เนื้อหาเข้มข้น และประทับใจ











0 ความคิดเห็น:

Tangerines (2013) วิกฤตไร่ส้ม : เมื่อมนุษย์ถูกแบ่งแยกด้วย'ชาติ'

 เป็นหนังที่ว่าด้วยศักดิ์ศรี ความเชื่อ อคิติ และมิตรภาพ ปีนี้หนังที่โดนใจผมอย่างแรงจะเป็นหนังเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก Tangerines หรือ วิกฤตไร่ส้ม หนังเอสโตเนียที่ฝ่าด้านหนังตัวเต็งสาขาหนังต่างประเทศ โดยสร้างเซอร์ไพรส์เล็กๆด้วยการเข้าชิงลูกโลกทองคำ และเซอร์ไพรส์หนักขึ้นไปอีกเมื่อได้เป็น1ใน5หนังเข้าชิงออสการ์2015นี้ โดยเขีย Corn Island, Lucia de B และ Force Majeure ออกไปและยังเป็นหนังเอสโตเนียเรื่องแรกที่ได้ชิงออสการ์หนังต่างประเทศอีกด้วย
     เมื่อออสการ์คราวที่แล้ว ผมสะดุดใจกับหนังเรื่อง Omar (2013) ว่าด้วยความขัดแย้งอิสราเอล–ปาเลสไตน์ (ในมุมมองของปาเลสไตน์) แต่มาคราวนี้ ผมค่อนข้างเทใจให้กับคุณปู่ไร่ส้มใน Tangerines อย่างมาก หนังที่มีฉากหลังเป็นสงครามจอร์เจีย-อับฮาเซีย ปี1992 (ในมุมมองของทุกฝ่าย) สงครามนี้มีที่มาคร่าวๆดังนี้ครับ หลังจากสหภาพโซเวียตล้มสลาย จอร์เจียแยกตัวออกมา และถือว่าอับฮาเซียเป็นส่วนหนึ่งของจอร์เจีย ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาประเทศ แต่อับฮาเซียเองต้องการแยกประเทศออกจากจอร์เจียอีกที จอร์เจียจึงส่งทหารมาปราบจนเกิดการสู้รบปล้นฆ่ากับคนในพื้นที่ ทำให้รัสเซียยืนมือเข้ามาช่วยอับฮาเซีย โดยอ้างว่าต้องการปกป้องคนรัสเซียในพื้นที่นี้ ผลสรุปของสงครามนี้คือจอร์เจียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กลับไป
     แม้มันจะเป็นหนังสงคราม แต่ก็คงเป็นหนังสงครามที่เล็กที่สุดก็ว่าได้ เพราะเล่นกันอยู่แค่ไม่กี่คนเอง แต่นั่นไม่ได้ทำให้พลังของหนังดูน้อยเลยสักนิด Tangerines เป็นเรื่องราวของคุณปู่ช่างไม้ชาวเอสโตเนีย ที่อาศัยอยู่ในย่านหมู่บ้านชาวเอสโตเนียที่ตั้งอยู่ในอับฮาเซีย ช่วงเกิดสงครามรุนแรง ซึ่งชาวเอสโตเนียส่วนใหญ่ที่นี่ตัดสินใจอพยพกลับบ้านเกิด ในหมู่บ้านจึงเหลือคนไม่กี่คน หนึ่งในนั้นมี มากูส เจ้าของไร่ส้มที่อยู่บ้านใกล้ๆกัน ซึ่งคุณปู่ช่วยงานเขาอยู่(ทำลังใส่ส้มให้เขา) แต่ไร่ส้มของมากูสกำลังเกิดวิกฤตไปพร้อมๆกับสงครามนั่นคือไม่มีแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม แต่โอ้แม่เจ้า!..ปัญหาไร่ส้มยังแก้ไม่ตก ก็มีปัญหาใหม่เข้ามาอีกครับท่าน นั่นคือ ดันมีทหารจอร์เจียกับรัสเซียมายิงกันตายหน้าบ้านซะงั้น คุณปู่กับมากูสช่วยทหารที่รอดชีวิตไว้ได้ 2 นายแต่บาดเจ็บสาหัส ส่วนคนที่ตายก็เอาไปฝังในป่า แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทหาร2นายที่ช่วยมานั้นดันเป็นคนละฝ่ายกันแต่ต้องมาพักรักษาตัวอยู่ในบ้านคุณปู่ด้วยกันนี่สิครับ จนอาจเดาไม่ออกว่าใครจะฆ่าใครได้ก่อนกัน และเหตุการณ์ที่พลิกผันเป็นระยะๆก็เป็นเสน่ห์อันร้ายกาจของหนังเรื่องนี้ นอกเหนือไปจากการเฉือดเฉือนบทบาทของนักแสดงหลักทั้ง 4 คนที่มีคาแล็กเตอร์แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นนิสัยใจคอของพวกเขาผ่านการกระทำ และบทสนทนาพื้นๆ แต่กลับแฝงไปด้วยทัศนคติที่แหลมคม ทั้งในแง่สังคม ศาสนา วัฒนธรรม และดนตรี
ดนตรีนั้นคือชีวิต :
     ทหารคนหนึ่งรอดตายมาพร้อมเทปคาสเส็ทม้วนหนึ่งที่พังแล้ว เราเห็นเขานั่งค่อยๆซ่อมเทปม้วนนั้นอยู่ตลอด สิ่งที่เราคิดได้ตามมาก็คือเทปม้วนนั้นคงต้องสำคัญกับไอ้หมอนี่แน่ๆ หรือไม่เขาก็คงต้องชอบฟังเพลงแหงๆ แต่ขณะนั้นเพลงพื้นเมืองในวิทยุดังงุ้งงิ้งๆ เขาถึงกับขอให้เปลี่ยนเพลงได้ไหม เพราะเพลงนั้นมันทำให้เขาเครียด... ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือของศิลปินเพลงชาวจอร์เจีย Niaz Diasamidze นอกจากนั้นยังผนวกกับเพลงของศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับ Irakli Charkviani เจ้าของฉายาว่า "Mepe" (ภาษาจอร์เจียแปลว่า 'ราชา') ทหารรับจ้างชาวเชซเนียคนหนึ่งพูดว่า เขาก็ชอบเพลงจอร์เจียเหมือนกัน แม้จะถูกกัดว่า แล้วยังชอบแผ่นดินของจอร์เจียด้วยล่ะสิ...(เชอะ อารมณ์สีย!!)
ชาติ :
     ดูเผินๆเหมือนหนังจะเอนมาทางจอร์เจียเนื่องจากทีมงานและทุนสร้างเป็นจอร์เจียกับเอสโตเนีย แต่มันจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรือ? โดยเฉพาะฉากย่างบาร์บีคิวแบบเชเชน และเราจะเห็นทหารจอร์เจียมักยกเรื่องประวัติศาสตร์ในอดีตที่ดินแดนตรงนี้เป็นของจอร์เจียมาแต่เดิม แต่แล้วบทหนังกลับกัดเจ้าของทุนสร้างคำโตแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยประโยคของฝ่ายตรงข้ามที่ว่า 'อดีตจะสำคัญอะไร ในเมื่อ ณ.เวลานี้คุณย่างบาร์บีคิวไม่เป็น..' ซึ่งแน่นอนความจริง ณ.เวลานี้คือคนในอับฮาเซียที่นี่ ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นจอร์เจียอีกแล้ว.. และการบุกเข้ามาปล้นฆ่าคนในพื้นที่ก็คงหาความชอบธรรมได้ยากเต็มทีสำหรับจอร์เจีย แต่ก็ใช่ว่าหนังจะเข้าข้างอีกฝ่าย เพราะทหารรัสเซียก็ป่าเถื่อนโหดร้ายสุดๆไม่แพ้กัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ)
     หนังจิกกัดความเป็นชนชาติอยู่ตลอด ฉากคุณปู่กับเพื่อนบ้านเอาศพทหารไปฝังในป่าตอนต้นเรื่อง อยู่ดีๆคุณปู่ก็นึกขึ้นได้ว่าต้องฝังแยกกัน ไม่รู้จะขำหรือเวทนาดี ก็ตายหมดแล้วนี่ ยังแบ่งแยกอีกนะครับ หรือว่า 'ชาติ' เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์อุปโลกขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน และแผ่นดินที่แย่งกันนี้ตายไปก็เอาไปไม่ได้
ศาสนา :
     ในภาพยนตร์คู่กรณีของจอร์เจีย นอกจากจะมีอับฮาเซียกับรัสเซียแล้ว ยังมีตัวละครที่เป็นชาวเชชเนีย (หรือ เชเชน) ซึ่งในเรื่องเป็นทหารรับจ้างเป็นส่วนหนึ่งของทหารรัสเซีย ชาวเชชเนียส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
     แต่ที่น่าสังเกตุก็คือ Misha Meskhi ที่รับบทเป็นทหารจอร์เจียก็หน้าตาเหมือนแขกๆอยู่ แต่คนจอร์เจียส่วนใหญ่75%นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ ซึ่งในภาพยนตร์เมื่อมีบรรดาทหารเข้ามาในบ้าน ดูแค่หน้าตาคนในบ้าน ก็คงเดาไม่ออกเลยว่าใครเป็นชาติไหนกันแน่ ถ้าไม่ได้พูดคุย หรือฉากจอร์เจียกับสร้อยรูปไม้กางเขน ที่เชเชนพูดว่าไม่ต้องห่วงเราให้เกียรติทุกศาสนา ราวกับสงสัยว่าทำไมต้องคิดว่าคนอิสลามเกลียดคนคริสต์ ก็คุณทหารคนเดียวกันนี่แหละ ที่พูดว่า "ผมจะฆ่ามันเพื่อพระเจ้า" แล้วคุณปู่สวนว่า "ฆ่าคนที่ไม่มีทางสู้เนี่ยะ พระเจ้าคุณชอบเหรอ?" แน่นอนว่าศาสนาไม่ได้ทำให้คนแตกแยก แต่คนแตกแยกอาจใช้ศาสนามาอ้าง
อุดมการณ์ กับ อคติ :
     ทหารรัสเซียคนหนึ่งปักใจเชื่อว่า ทหารเชเชนคนหนึ่งเป็นทหารจอร์เจีย เลยบอกให้เขาพูดภาษาเชเชนให้ฟังหน่อยเพื่อพิสูจน์ โดยที่ตัวเองก็ฟังภาษาเชเชนไม่ออกอยู่ดี.. สุดท้ายก็ยังคิดว่าเขาเป็นจอร์เจียอย่างเดิม การยึดมั่นในความคิดมันดูใกล้ๆกับ 'อคติ'
      คุณปู่มักจะถามทหารว่า ทำไมถึงมาเป็นทหาร? นายมีครอบครัวหรือเปล่า? ทหารคนหนึ่งตอบว่าเขามีแม่เพียงคนเดียว แต่ทิ้งท่านมาเป็นทหารเพราะคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ฟังแล้วน่าชื่นชมในหนังเรื่องอื่น แต่ในหนังเรื่องนี้กลับกลายเป็นความน่ารังเกียจ คุณทิ้งแม่มาได้ยังไงกัน หรือแม้แต่ลูกชายคุณปู่จากไปบอกว่า"จะไปสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินของเรา" ทั้งที่คุณปู่บอกว่านี่ไม่ใช่สงครามของใคร ดูเหมือนความรักชาติเป็นสิ่งที่น่ากลัวไปเสียแล้ว เพราะมันทำให้คนทิ้งพ่อ ทิ้งแม่ แล้วลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันได้ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คุณปู่ถามว่าใครให้สิทธิในการฆ่าคนอื่นกับพวกนาย ทหารตอบว่าสงครามไง..
     Tangerines (2013) เป็นหนังที่ดีมีเนื้อหาที่เข้มข้น มันดูสนุกมากที่สำคัญมันซึ้งมากด้วย และอาจประทับใจในสไตล์ลูกผู้ชายตัวจริง (ถ้าIda เป็นหนังสไตล์ผู้หญิงที่สุดแห่งปี Tangerines ก็คงเป็นหนังสไตล์ผู้ชายที่สุดแห่งปี เช่นกัน)         



0 ความคิดเห็น: