ในบรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ 2014นี้ ถ้าจะกล่าวว่า The Great Beauty คือหนังที่เชิดชูแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากที่สุด แน่นอนว่า Ernest & Celestine ก็คือขั้วตรงข้ามสุดตัวอย่างไม่ต้องสงสัย Ernest & Celestine ตั้งคำถามต่อค่านิยม ขนบธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมานั้น ว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องจริงแล้วหรือ..? (โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ว่าจะแนวคิดหัวก้าวหน้า หรืออนุรักษ์นิยมก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเหตุผล หรือที่มาของแนวคิดในแต่ละคน ผู้เขียนจึงไม่อาจหาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์ใครได้ นอกจากเนื้อหาในภาพยนตร์ล้วนๆ แต่หากมีข้อความใดรบกวนจิตใจ โปรดให้อภัย และอย่าถือสาผู้เขียนเลย)
"หนูอยู่ข้างล่าง หมีอยู่ข้างบน"
ใช่แล้ว! มันเป็นแบบนี้มาเสมอ...
คุณต้องเข้าใจนะบางอย่างเปลียนได้...
Ernest & Celestine เป็นการ์ตูนที่ว่าด้วยระบบชนชั้น และการแบ่งแยกสังคมเป็น2ฝ่าย ดังสโลแกนที่ว่า ."หนูอยู่ข้างล่าง หมีอยู่ข้างบน"(Mice downstairs, bears upstairs) แต่ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็มักมีคนที่แตกแถวเสมอ หรือมีความคิดที่ฉีกจากจารีตผ่านงานศิลปของตน ดังเช่น Sergei Parajanov กับภาพยนตร์ The Color of Pomegranates (1968) ที่ทำให้เขาเป็นบุคคลต้องห้ามของรัสเซีย, Ai Weiwei กับงานศิลปะท้าทายรัฐบาลจีน, Victor Hugo ถ่ายทอดความอคติของสังคมผ่านนวนิยายกับ Les Misérables ("เหยื่ออธรรม")และ Notre-Dame de Paris ("คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม"), John Lennon กับเพลง Imagine รวมทั้ง Banksy ศิลปินข้างถนนเสียดสีสังคมผ่านงานกราฟฟิตี้เปี่ยมอารมณ์ขัน และศิลปินในโลกนี้อีกมากมายที่เป็นหัวก้าวหน้า และแน่นอนว่า Ernest & Celestine ด้วย Ernestเป็นนักแต่งเพลง ส่วน Celestine เป็นจิตรกร และพวกเขาคือศิลปินที่กำลังจะค้นพบว่าตนเองนั้นคิดต่างจากคนในสังคม
-เจ้าหมียักษ์วายร้าย
การปลูกฝังความคิด ความกลัว และความเกลียดชัง เป็นประเด็นหนึ่งของความแตกแยกที่ถูกพูดถึงในภาพยนตร์ ณ. สถานสงเคราะห์เด็กแห่งหนึ่ง ที่เหล่าน้องหนูถูกปลูกฝังความคิดผ่านนิทาน "เจ้าหมียักษ์วายร้าย" ที่เด็กๆพากันกลัวหัวหดถึงความดุร้าย ป่าเถื่อนของมัน ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆเพราะเราเองทุกคนล้วนแล้วแต่เคยถูกปลูกฝังความคิดทำนองนี้มาแล้วทั้งนั้นเหมือนกัน ลองถามเด็กประถมว่า รู้ไหมว่าประเทศเราถูกพม่ารุกรานเสียกรุงศรีอยุธยากี่ครั้ง เชื่อว่าเด็กทุกคนตอบได้หมด แต่ลองถามใหม่ว่า แล้วรู้ไหมว่าเรารุกรานไปตีเขมรกี่ครัง หรือมลายูกี่ครั้ง อย่าว่าแต่เด็กเลยผู้ใหญ่หลายคนก็ยังตอบไม่ได้ รู้เพียงแต่ว่าพวกเราเป็นฝ่ายคนดี เป็นชนชาติที่รักสงบ และพม่าคือผู้ร้ายในสายตาเด็กๆเสมอ แต่ก็อย่าแปลกใจเลยเพราะทุกๆประเทศก็เลือกสอนประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเอง ปลูกฝังให้รักชาติทั้งนั้นแหละ เหมือนกับที่คุณหมอฟันบรรยายถึงความยิ่งใหญ่และเสียสละของบรรพบุรุษในการสร้างชาติ'ชาวหนู'ให้ เซเลสทีนฟัง โอ้..พระเจ้า! นี่เขากล้าตั้งคำถามกับความรักชาติในหนังการ์ตูนด้วยหรือนี่? 555ก็แหงล่ะ นี่มันการ์ตูนฝรั่งเศส ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องศิลป ถ้าเป็นเมืองไทยล่ะก็คงโดนแบนชัวร์...และอย่าเพิ่งช็อคล่ะเพราะนี่แค่น้ำจิ้ม ...จอห์น เลนอน กล่าวว่า "ไม่มีชาติก็ดีนะ จะได้ไม่มีใครอ้างว่าต้องฆ่าใครหรือยอมตายเพื่อมัน" (เนื้อเพลงImagine) "Imagine there's no countries.... It isn't hard to do... Nothing to kill or die for... " และที่รู้ๆคือ จอห์น เลนอน ถูกยิงตาย
-ถูก -ผิด และความเชื่อที่ไม่ต้องอาศัยความเข้าใจ
ขณะที่มาดามลาเกรส เล่านิทาน เธอทำฟันหลุดทำให้พูดไม่ชัด เด็กๆส่วนใหญ่จึงฟังไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอพูด แต่กลับมีเด็กคนหนึ่งพูดว่าฉ้นฟังเข้าใจ และเกิดการโต้เถียงกัน มันเป็นการยากที่จะอนุมานว่าคนเราสามารถเชื่อโดยที่ไม่ต้องเข้าใจได้ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกกับรุ่นผู้ใหญ่ในศาลของชาวหนู พวกเขาเถึยงกัน ทะเลาะกันในลักษณะเดิมๆ เหมือนกับความคิดที่ถูกปลูกฝังไปแล้วไม่ได้เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ เด็กอย่างไรผู้ใหญ่ก็อย่างนั้น และการเถียงว่าใครถูก-ใครผิด, ใช่-ไม่ใช่, ควร-ไม่ควร, yes-no ถูกนำใช้สื่อความหมายตั้งแต่ฉากต้นๆเรื่อง และฉากท้ายๆเรื่อง ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอแม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะคนเรานั้นไม่ได้คิดเหมือนกันไปซะทั้งหมดทุกเรื่อง ดูๆไปการ์ตูนฝรั่งเศสเรื่องนี้ เขาสอนให้เด็กของเขารู้จักคิด มากกว่ารู้จักเชื่อ...
-ความรักที่ยิ่งใหญ่
พ่อแม่นั้นย่อมรักลูกของตนมากกว่าใคร จะเรียกว่าเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ได้หรือเปล่า? ในภาพยนตร์ Ernest & Celestine ตั้งคำถามกับประเด็นนี้ซะแรงเชียวผ่านพ่อแม่หมีครอบครัวหนึ่งที่สอนลูกของพวกเขาให้เข้าใจถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ แม้จะเอาเปรียบคนอื่น แน่นอนว่ารักลูกของตนเองแต่ทำร้ายลูกคนอื่น คนแบบนี้พบเห็นได้ทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ผมชอบที่หนังสร้างตัวละครที่เถียงแทนคนอื่นราวกับว่านี่แหละคือ การออกนอกกรอบความคิดรักตัวเอง เออเนสท์เถียงแทนเซเลสทีนในขณะเซเลสทีนก็เถียงแทนเออเนสท์ ในโลกที่ดูเหมือนคู่ขนานกันไป นอกจากนั้นหนังยังเสียดสีระบบตุลาการที่เต็มไปด้วยอคติ เชื่อเขาเลย!! ว่านี่แหละหนังการ์ตูนเด็กๆ จริงๆ!!
-ทำไมต้อง..การ์ตูนเด็กๆ..?
เพราะความจริงมันแสนโหดร้าย บางทีคนเราก็อยากเปลี่ยนเรื่องราวให้เป็นเหมือนนิทานอย่าง Life Of Pi (2012) ปัจจุบันมีการ์ตูนหลายๆเรื่องที่มีแนวคิดเสียดสีสังคม มีประเด็นที่ตึงเครียด ท้าทายความเชื่อดั้งเดิม และบางครั้งผู้ชมอาจคิดไปว่าเด็กๆจะแยกแยะออกไหม? แต่จะว่าไปการ์ตูนที่การวาดเป็นสไตล์สีน้ำแบบนี้ก็อาจมีแต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆนี่แหละที่อยากดู เพราะปัจจุบันการ์ตูนนิยมสร้างเป็น3Dจากคอมพิวเตอร์มากมาย แม้ว่า Ernest & Celestine จะสอดแทรกประเด็นทางสังคมที่รุนแรงก็จริง แต่ก็โดดเด่นมากๆในงานด้านภาพ และดนตรีประกอบที่ส่งให้หนังดูเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจ ด้วยเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ขบขัน สดใสร่าเริง โดยเฉพาะคาแล็กเตอร์ที่น่ารักมากๆ และที่ผมอยากจะกล่าวก็คือ เด็กอาจไม่ได้โง่ อย่าคิดไปเองว่าคนอื่นเขาโง่ อย่าคิดไปเองว่าเขาแยกแยะไม่ออก เพราะจริงๆแล้วผู้ใหญ่ต่างหากที่ควรกลับไปมองตัวเองว่าเป็นไม้แก่ที่ดัดยากหรือเปล่า เป็นผู้หลับผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยอคติไม่สามารถรับความคิดที่แตกต่างได้หรือเปล่า.. ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้พิพากษาในการ์ตูนเรื่องนี้...
-เห็นหมีหนูไหม..?
สรุปแล้ว Ernest & Celestine เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเชิงสัญลักษณ์ค่อนข้างมาก แต่ก็ดูสนุกด้วย และตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบเพราะตัวเอกที่ทำแต่เรื่องแย่ๆ แต่ก็พอมีเรื่องดีๆบ้าง และรับรองว่าคุณจะได้เห็น หมี กับ หนู อย่างแน่นอนครับ
0 ความคิดเห็น: