Navigation Menu

คำพิพากษาเวอร์ชั่นเดนมาร์ก


ก่อนอื่นต้องยอมรับอย่างหนึ่งครับว่า หนังพล็อตเรื่องบีบคั้นหัวใจแบบนี้ อาจไม่ชื่นมื่นนักสำหรับช่วงเวลาที่อยากปล่อยวางของปุถุชนคนหนึ่ง เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันนั้นก็ตึงเครียดพออยู่แล้ว แม้จะมีความอยากรู้อยู่ลึกๆว่าทำไมนะ? หนังเดนมาร์คเรื่องนี้ถึงได้รับการกล่าวขวัญในแง่บวกจากนักวิจารณ์ทุกสำนักเป็นเวลาข้ามปีทีเดียว เพราะหนังออกฉายในปี2012 เข้าร่วมเทศกาลหนัง Toronto International Film Festival 2012 และที่ทำให้ถูกพูดถึงอย่างมากก็คือในเทศกาลหนังเมืองคานส์ Cannes Film Festival 2012 ปีเดียวกับ Amour ของMichael Haneke เพราะที่นี่เองทำให้ Mads Mikkelsen คว้ารางวัลนักแสดงฝ่ายชายยอดเยี่ยมไปครอง แต่ในปีนั้นThe Huntไม่ได้ถูกส่งเข้าชิงออสการ์ แต่ทางเดนมาร์กกลับเพึ่งเลือกหนังเรื่องนี้เป็นตัวแทนส่งเข้าชิงออสการ์ในปี 2014นี้ และอย่าเพิ่งคิดนะครับว่าหนังจะกระแสตก เพราะหนังได้เข้าชิงและได้รับรางวัลจากหลายๆสถาบันภาพยนตร์ ตลอดปี 2012, 2013 จนถึง 2014 จนล่าสุดในขณะที่เขียนบทความนี้ The Hunt ก็ได้รับการเสนอชื่อเป็น1ใน5หนังเข้าชิงรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากทั้ง ลูกโลกทองคำ 2014 และ Independent Spirit Awards 2014 ไปแล้ว (ซึ่งยังรอลุ้นผลอยู่)

The Hunt (หรือ Jagten) เป็นผลงานของผู้กำกับ Thomas Vinterberg ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้นึกถึงวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ของไทยเรื่อง คำพิพากษา นวนิยายของ ชาติ กอบจิตติ ที่กล่าวถึงภารโรงคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของ "คำพิพากษา" จากสังคม และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของค่านิยมสังคมที่มีผลกระทบอันรุนแรงต่อปัจเจกบุคลที่ไม่ได้มีหน้ามีตาในสังคม เนื้อเรื่องได้นำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง แต่กระนั้นก็แฝงไปด้วยความรู้และข้อคิดที่น่าสนใจว่า คนดีคือคนแบบไหน แล้วกลุ่มคนที่เรียกว่าคนดีนั้นทำในสิ่งที่สมควรแล้วจริงหรือ สำหรับ The Hunt นั้นก็เช่นกัน เป็นเรื่องราวในช่วงวันก่อนคริสต์มาสเล่าถึง ลูคัส หนุ่มใหญ่ใจดีคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่ง เขาเลิกลากับภรรยาไปแล้วแต่รอวันที่จะได้สิทธิดูแล มาคัส ลูกชายวัยรุ่นของเขา ลูคัส เป็นคนใจดีและเป็นที่รักของเด็กๆ แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับถูกใส่ร้ายว่าทำอนาจารเด็กอนุบาลคนหนึ่ง เป็นเหตุให้ถูกคนทั้งเมืองรังเกียจ และนำมาซึ่งความรุนแรง

สำหรับคนประเภทที่คิดเองเออเอง คนกลุ่มนี้มีอยู่จริงในสังคมดัดจริตในปัจจุบัน ที่คิดว่าความคิดตนเองถูกต้องกว่าของคนอื่นเสมอ และเมื่อคิดว่าใครคนหนึ่งทำผิด หรือเลว พวกเขาก็พร้อมที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อจัดการกับคนๆนั้น แม้วิธีนั้นจะละเมิดสิทธิคนอื่น หรือทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนก็ตาม เพราะคิดว่าการได้กำจัดคนเลวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่สนใจว่าคนเลวที่ว่านั้นมีสิทธิจะโต้แย้งหรือเปล่า สิทธิ์ที่จะซื้อข้าวกิน เข้าโบสถ์ สิทธิที่จะได้รับการรักษา สิทธิความเป็นมนุษย์หายไปหรือเปล่า

แต่สิ่งที่ผมรู้สึกแปลกประหลาดใจที่สุดก็คือ ในโลกนี้มีภาพยนตร์หรือวรรณกรรมมากมายหลายเรื่องที่พูดถึงเรื่องราวความไม่ยุติธรรมหรืออคติในสังคมแบบนี้ แต่ทำไมคนในสังคมทุกวันนี้ก็ยังปล่อยให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าดูหนังดูละครแล้วไม่เคยย้อนมองดูสังคมของตนเองเลย แถมบางคนก็เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงอีกด้วยโดยเฉพาะคนในสังคมโซเชียลที่เชื่อและแชร์ความคิดด้านเดียว ไอ้คำว่าฟังหูไว้หูแทบไม่มีในสมอง เมื่อปักใจเชื่อในสิ่งไหนแล้ว แทบจะไม่มองเหตุผลของอีกฟากเลย บางคนเป็นถึงระดับครูบาอาจารย์ เป็นคณบดีด้วยซ้ำ รองคณบดีบางคนถึงกับบอกว่าจะกระทืบนักศึกษาที่คิดแตกต่างจากคนอื่นก็ยังมีเลย แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือคนในสังคมบางส่วนเห็นดีเห็นงามไปกับรองคณะบดีท่านนั้นซะอีก ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าพวกเขาเป็นอะไรกันไปหมด จิตใจอำมหิตไม่ต่างจากชาวบ้านใน "The Hunt" หรือใน "คำพิพากษา"เลย ที่พร้อมจะทำร้ายผู้อื่น ฆ่าผู้อื่นที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็นคนไม่ดี

แต่แน่นอนว่าโลกนี้ไม่ได้มีคนที่คิดเหมือนกันซะทั้งหมด ส่วนคนที่เห็นต่างบางคนก็ไม่อยากออกความเห็นอะไร เพราะเขาอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องของตน หรือกลัวถูกคนพวกนี้เล่งเป้ามาที่ตน ทางที่ดีอย่าไปยุ่งด้วยดีกว่า แต่คนบางคนก็พร้อมจะลุยกับพวกดัดจริตชนกลุ่มนี้เพื่อปกป้องคนที่ถูกรังแก เหมือนมาคัส ลูกชายของลูคัส ที่พร้อมจะลุยเพื่อปกป้องพ่อของเขา และยังพอมีคนที่เป็นกลางๆ ไม่งั้นหนังคงหดหู่น่าดูอีกทั้งตัวลูคัสเองก็เข้มแข็งกว่าไอ้ฟักเยอะ และมีวิธีการตอบโต้ในแบบของเขา

สิ่งที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากหนึ่งในหนังที่ทำให้ผมน้ำตาไหลไม่หยุดเลย และเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงถูกกล่าวขวัญได้นานข้ามปีขนาดนี้ แต่สิ่งที่สุดยอดที่สุดในThe Hunt นั่นก็คือฉากตอนจบของหนังที่สรุปทุกอย่างได้อย่างแยบยล จนผมคิดว่าถ้าหนังไม่ได้จบแบบนี้ก็คงไม่มีใครพูดถึงมันมากขนาดนี้แน่นอน

เมื่อเราหันกลับมามองสังคมของโลกปัจจุบันที่เราพบเห็น เมื่อใดก็ตามที่ดัดจริตชนพวกนี้ถูกตำหนิ พวกเขามักจะหาคำพูดสุดเนี้ยบมารองรับการกระทำแย่ๆเพื่อให้ตัวเองดูดีได้เสมอ เช่น "ฉันทำเพื่อพ่อ"บ้างล่ะ "ทำเพื่อพระเจ้า"บ้างล่ะ หรือแม้แต่ทำเพื่อประเทศชาติ...




1 ความคิดเห็น:

ความเป็นแม่ในสังคมแตกแยก


Child's Pose ภาพยนตร์โรมาเนียปี2013 ผลงานของผู้กำกับ Calin Peter Netzer ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน(63rd Berlin International Film Festival) ซึ่งที่นี่เองภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงคว้ารางวัลสูงสุดคือ Golden Bear มาครอง นอกจากนั้นหนังยังเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต (Toronto International Film Festival 2013) สำหรับนักแสดงอาวุโส Luminita Gheorghiu ถูกเสนอชื่อเข้าชิง Best Actress ในยูโรเปียนฟิล์มอวอร์ด (26th European Film Awards) และยังชนะรางวัล Telia Film Award ที่ Stockholm International Film Festival 2013อีกทั้งหนังยังถูกเลือกอย่างเป็นทางการจากโรมาเนียให้เป็นตัวแทนส่งเข้าร่วมประกวดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม 2014นี้ด้วย (86th Academy Awards)

เรื่องราวของคุณนายคอเนเลียเศรษฐีนีไฮโซวัย 60 ปีที่ยังไม่ยอมแก่ ซึ่งระหองระแหงกับลูกชายและลูกสะใภ้ตามภาษาคุณแม่ผู้จู้จี้ที่หวงลูกชายคนเดียวของเธอ แต่แล้ววันหนึ่งเธอได้รับแจ้งว่าขณะนี้ลูกชายอยู่ที่โรงพักแถวชานเมือง แน่นอนว่าคุณแม่ตรงไปที่นั้นทันที...

ความรักจากผู้เป็นแม่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทุกคนรู้ดี มันคือการให้ที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน  เมื่อใดที่ลูกมีปัญหาแม่ก็แทบจะนั่งไม่ติด ต้องหาทุกวิถีทางเพื่อช่วยลูกให้ได้ แม้จะต้องขัดแย้งกับผู้คน ขัดแย้งกับสามี หรือแม้กระทั้งขัดแย้งกับตัวลูกของตนเองแม่ก็ยอม ขอเพียงให้ช่วยลูกให้ได้ก็พอโดยไม่สนใจหรอกว่าลูกต้องการให้ช่วยหรือเปล่า เพราะคนเป็นแม่นั้นทนเห็นลูกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากไม่ได้จริงๆ  เพราะสำหรับแม่แล้วห่วงใยลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเข้าใจในความรักนั้นหรือเปล่าแม่ก็ยังรักลูกอยู่ดี แต่ถ้าลูกคนไหนเข้าใจแม่ก็อาจถือว่าแม่คนนั้นโชคดี แม้ว่าลูกจะโตเป็นควาย มีลูกมีเมียแล้ว ก็ยังเป็นเด็กๆสำหรับในสายตาแม่เสมอ และนี่อาจเป็นมุมมองของความเป็นแม่



แต่ถ้าเป็นมุมมองของคนในสังคมล่ะ ความรักนั้นอาจต้องถูกจำกัดความใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นมันก็จะกลายเป็น 'พ่อแม่รังแกฉัน' เมื่อวันก่อนผมไปนั่งกินข้าวกับเพื่อนที่ร้านอาหารหนึ่ง เหลือบไปเห็นโต๊ะข้างๆ เขามากันหลายคนดูเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ ในกลุ่มนั้นมีเด็กคนหนึ่งอายุน่าจะไม่เกิน10ขวบ คงเป็นลูกของพวกเขา ขณะนั่งกินข้าวอยู่ ข้างๆจานข้าวก็มี แท็บเล็ทตั้งอยู่เล่นเกมไปด้วย ผมกับเพื่อนยังคุยกันว่าถ้าเป็นสมัยพวกเราคงโดนผู้ใหญ่ดุแล้ว เด็กสมัยนี้โชคดีจัง ก็อาจจะจริงที่กินข้าวไปด้วย นั่งเล่นเกมไปด้วย ก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนนิ ฆ่าสัตว์ประหลาดไปด้วย ได้ฝึกสมอง?!!? เด็กที่ถูกสปอยล์นี้ช่างโชคดีจริงๆเลย ลองมองดูสังคมชนชั้นกลางในปัจจุบันสิครับ มีแต่คนที่ถูกสปอยล์มา ต้องได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการเท่านั้น ผิดหวังบ้างไม่เป็น แพ้ไม่เป็น ยอมเขาบ้างสักหน่อยก็ไม่ได้ บางคนไปไกลถึงขนาดคิดว่าตนเองต้องมีสิทธิมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ แน่นอนว่า เด็กที่ถูกสปอยล์นี้ช่างโชคดีจริงๆ เพราะคนที่โชคร้ายคือคนอื่นที่ต้องยอมคนพวกนี้ต่างหาก เมื่อพ่อแม่รู้เช่นนี้เรื่องอะไรจะไม่สปอยล์ลูกของตนล่ะ อยากให้ลูกได้มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว พ่อแม่บางคนถึงกับตั้งชื่อลูกมีความหมายว่ามีสิทธิมากกว่าคนอื่นก็ยังมี ช่างภูมิใจเหลือเกินที่ลูกของตนอยู่เหนือลูกคนอื่น แม้คอเนเลียสาวใหญ่ไฮโซจะรักลูกของตนแค่ไหนก็มีสิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้นั้นก็คือ คนอื่นเขาก็รักลูกของเขาเช่นกัน ถ้าหยุดเพ่งมองแต่เรื่องของตัวเอง แล้วลองมองไปที่เรื่องของคนอื่นบ้าง บางทีอาจมีคำตอบที่คิดไม่ถึงรออยู่ ประโยคสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้บ่งบอกความหมายที่ไปไกลกว่าภาพที่เห็น เพราะความรู้สึกนั้นมันมากมายเหลือเกิน



0 ความคิดเห็น: