Navigation Menu

Sister : เด็กขี้ขโมยกับพี่สาวใจแตก


Sister : เด็กขี้ขโมยกับพี่สาวใจแตก

     ผมเคยแปลกใจว่าทำไมหนังหลายๆเรื่องถึงเชิดชูการกระทำที่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น โดยเฉพาะการขโมย เป็นจอมโจรบ้างล่ะ ปล้นคนรวยมาช่วยคนจนบ้างล่ะ หรือขโมยเพราะความยากจนสุดแท้แต่ จะกล่าวอ้างกันไป โดยเฉพาะหนังสำหรับเด็กๆ การ์ตูน พวกโจรสลัด ที่ถูกยกย่องเป็นฮีโร่ เด็กๆดูก็สนุกสนานชอบอกชอบใจ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าคุณเคยถูกขโมยของรัก หรือของสำคัญในชีวิตไป คุณคงไม่คิดทำหนังประเภทนั้นแน่ๆ ผมชอบหนังอย่าง Bicycle Thieves (1948) ของ วิตตอริโอ เดอ ซิกา ที่แสดงให้เห็นว่าคุณไม่อาจอ้างเอ่ยความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิ์คนอื่นได้แม้ว่าคุณคิดว่า มันจำเป็นต้องทำสักแค่ไหน ฉันจำเป็นต้องขโมยจักรยานเขาเพราะฉันกำลังจะอดตาย แล้วคนที่ถูกขโมยล่ะมีใครสนใจความทุกข์ของเขาบ้าง Sister (2012) เป็นหนังอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาสังคม และการขโมยอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีงาม
     Sister (2012) กล่าวถึงเด็กกำพร้าไซม่อนและพี่สาวของเขากับความลับบางอย่างที่ถูกเก็บงำไว้ ซึ่งมันรอคอยวันประทุออกมา ไซม่อนหารายได้จากการขโมยอุปกรณ์กีฬาสกีของนักท่องเที่ยวแล้วเอาไปขายต่อในราคาถูกๆ หนังเปิดเรื่องด้วยการตามดูพฤติกรรมของเด็กคนนี้ ตั้งแต่เปิดดูโผยแบบสินค้าที่ต้องการ ตามติดเป้าหมาย เรียกว่าไม่ได้ขโมยซี้ซั้ว ขโมยอะไรก็ได้ แต่ขโมยตามใบสั่งนั่นเอง ไซม่อนมักจะบอกเพื่อนๆว่าอยากได้อะไรบอกเดี๋ยวจัดให้ สิ่งที่เห็นในตัวไซม่อนก็คือ เด็กอะไรว่ะ? พูดจายังกะผู้ใหญ่ จะว่าแก่แดดก็ไม่เชิง จะว่าไร้เดียงสาคงไม่ใช่แน่ๆ
     ส่วนหลุยส์พี่สาวของไซม่อน คือผู้หญิงที่คุณมองปุ๊บก็เดาได้ทันทีว่าเป็นวัยรุ่นใจแตก สํามะเลเทเมาแหงๆ ซึ่งเด็กๆละแวกนั้นเข้าใจว่าเธอเป็นกระหรี่ ทั้งทีเธอไม่ได้ขายตัว แต่เมื่อมองเธออีกทีคุณจะพบว่าที่จริงแล้วหลุยส์ดูเหมือนคนอมทุกข์ ด้วยหน้าตาที่เศร้าหมองตลอดเวลา เหมือนคนที่ติดอยู่กับอดีตและไม่อาจหลุดออกมาได้ นอกจากใช้ชีวิตไปวันๆ ในขณะที่หลุยส์ดูท้อแท้สิ้นหวัง แต่ไซม่อนกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขากล้าลุยกับปัญหา ยังคงร่าเริงในความเงียบเหงาตามลำพัง และปรับตัวได้อย่างดี รวมทั้งไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด จึงทำให้เขาดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน
     เคซี่ โมเต้ ไคล์น นักแสดงเด็กที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ เออร์ซูล่า เมเยอร์ มาแล้วในเรื่อง Home (2008) ซึ่งตอนนั้นรับบทเป็นจูเลียน ลูกคนเล็กในบ้าน (ในเรื่อง Sister (2012) มีฉากที่ไซม่อนโกหกคนว่าเขาชื่อ จูเลียน ด้วย) สำหรับเรื่อง Sisterนี้ ต้องถือว่าทำให้เขาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว เพราะมันทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลซีซาร์ 2013 สาขานักแสดงดาวรุ่งชายยอดเยี่ยม และคว้ารางวัลนักแสดงเด็กยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเด็ก Buster International Children's Film Festival รวมทั้งยังได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังนานานชาติฮาวาย และ Swiss Film Prize ในสาขานำชายยอดเยี่ยมเช่นกัน นอกจากนั้นหนังยังได้ ลีอา เซย์ดูส์ นางเอกจาก Blue Is the Warmest Color มารับบทหลุยส์พี่สาว และ จิลเลียน แอนเดอร์สัน นางเอกจากซีรี่ The X-Files มาแสดงในบทสมทบที่สำคัญ
     Sister (2012) ผลงานเรื่องที่2ของผู้กำกับเออร์ซูล่า เมเยอร์ ที่นับว่าประสบความสำเร็จมากๆ เพราะนอกจากจะได้รางวัลหมีเงิน สเปเชียลอวอร์ด จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน Berlin International Film Festival 2012 ก็ยังชนะรางวัลสูงสุดจาก Swiss Film Prize 2013 ในสาขาBest Picture และถูกเลือกให้เป็นตัวแทนสวิสเซอร์แลนด์เข้าชิงออสการ์ในปีนั้น และยังผ่านเข้าถึงรอบ Short List (9เรื่องสุดท้าย) แต่ไม่สามารถเข้าถึงรอบ 5เรื่องสุดท้ายได้ แต่มันกลับเป็น 1ใน5 หนังเข้าชิง Independent Spirit Awards สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้น
     Sister (2012) เป็นที่ถูกใจและได้รับคำชื่นชมท่วมท้นจากบรรดานักวิจารณ์ภาพยนตร์แทบทุกสำนัก และส่วนใหญ่จะชื่นชมตอนจบของมัน เพราะ เออร์ซูล่า เมเยอร์ ไม่ได้เก็บกวาดจนไม่เหลืออะไรไว้ให้คนดู แต่เธอกลับทิ้งเศษเสี่ยวของความรู้สึกบางอย่างไว้ และสิ่งนั้นมันมีค่าเหลือเกิน







0 ความคิดเห็น:

Heli กับสิ่งที่ไม่น่าคุ้นเคย

เมื่อคนไม่มีเครื่องแบบ ต้องสู้กับคนในเครื่องแบบ

    Heli เป็นเรื่องราวของคนตัวเล็กๆในสังคมที่ต้องต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะสู้ได้ เอลี่(Heli)เด็กหนุ่มคนหนึ่ง และน้องสาวของเขา เอสเตลา(Estela)ที่เข้ามาพัวพันกับปัญหาระดับประเทศแบบไม่ทันตั้งตัว  Heli ไม่ใช่หนังแนวมาเฟียค้ายาเสพติดแบบที่เราคุ้นเคย แต่มันทำให้เห็น สิ่งที่เราคุ้นเคยในสังคมมากกว่า ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องที่น่าคุ้นเคย พูดง่ายๆก็คือ "แปลกแต่จริง" นั่นเอง
    ด้วย Heli เป็นหนังแตกติสท์ ดิบสุดโต่งแต่ก็ซึมลึกเหมือนสไตล์หนังทางยุโรปผนวกกับอินดี้ลาติน ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบของแปลก หรือชอบเสพงานศิลป์จากภาพยนตร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่มันเป็นที่ถูกใจของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ให้เข้าสายการประกวดหลักได้เข้าชิงปาล์มทองของปี 2013 นั้น และคว้ารางวัลใหญ่ 'ผู้กำกับยอดเยี่ยม'มาครอง อีกทั้งยังกวาดรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน รวมทั้งถูกเลือกเป็นตัวแทนเม็กซิโกเข้าชิงออสการ์ในปีนั้น
     ต้องยอบรับว่า Heli เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายภาพได้อย่างเด็ดขาด อารมณ์หนังโดดเด่นเกินบรรยาย และการดำเนินเรื่องที่แหลมคม ดูสนุกมาก แม้หนังจะดู 'เหว่อๆ' แต่ก็ 'จริงจัง' สุดๆในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดมิติที่ดูมีเอกลักษณ์ แปลกดีใช่ไหมล่ะ? แต่ที่แปลกกว่านั้นคือ มันเหมือนเหตุการณ์จริงในเมืองไทยเอามากๆนี่สิครับที่อยากจะพูดถึง เมื่อเร็วๆนี้หลายคนอาจเคยเห็นคลิปการฝึกทหารแบบแปลกๆในไทยที่ดังไปถึงสื่อต่างประเทศ แต่บอกได้เลยว่านั่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ของจริงมันยิ่งกว่านั้นเยอะครับ นอกจาก Heli จะพูดประเด็นระบบโซตัสของทหาร ยังพูดถึงการปฏิบัติงานของตำรวจ การรังแกคุกคามประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐ การอุ้มฆ่าของผู้มีอิทธิพล การสร้างภาพออกสื่อของกองทัพ แค่เอาทหารมาจูงคนแก่ข้ามถนนแล้วเรียกนักข่าวช่างภาพมาถ่ายทำคงเป็นเรื่องจิ๊บๆ (เช่นนั้นหรือ?) รวมถึงทฤษฎีสมคบคิดของตำรวจปราบยาเสพติดกับพ่อค้ายา ก็ดูเป็นเรื่องเดิมๆที่เรารู้ๆกันอยู่แล้ว (เช่นนั้นหรือ?) แต่ Heli กลับเล่ามันด้วยลีลาติดดินเอามากๆ และเชื่อเถอะว่าในปัจจุบันคงไม่มีหนังไทยเรื่องไหนกล้าหาญพอที่จะตีแผ่เรื่องแบบนี้ ในสถานการณ์ตอนนี้ (แต่อีกสักสิบปีไม่แน่) อาจเป็นเพราะสื่อหลักๆส่วนใหญ่ของบ้านเรายังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างความเชื่อ มากกว่าต้องการความจริง อาจเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนเองล้วนๆ และคนรุ่นใหม่ที่เหมือนถูกล้างสมองมาให้คิดตามๆกัน พูดเหมือนกันเดะ! เราอาจเห็นหนังไทยหรือละครที่เกี่ยวกับยาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลมาบ้างและผู้ร้ายมักเป็นนักการเมือง แต่เชื่อเถอะว่า หนังดัดจริตพวกนั้นช่างห่างไกลเหลือเกินกับความเป็นจริง
     ช่วงค่ำๆ เวลาประมาณ19นาฬิกา มีวัยรุ่นคนหนึ่งยืนคอยญาติอยู่หน้าปากซอยเจริญนคร 17 แต่แล้วมีอันธพาลกลุ่มหนึ่งประมาณ4คนเข้ามาพูดจาหาเรื่อง วัยรุ่นคนนั้นจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไป 191ขอความช่วยเหลือ ขณะที่รอตำรวจอยู่อันธพาลกลุ่มนั้นก็ได้แต่พูดด่า หาเรื่องอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะว่าเมาก็ไม่เชิง แต่ก็ยังไม่ได้ทำร้ายร่างกายใดๆ เมื่อตำรวจ2นายมาถึง ซึ่งตำรวจที่มาคนนึงไม่ได้ใส่เครื่องแบบและตัวใหญ่มากๆ ตำรวจได้สอบถามเรื่องราว วัยรุ่นคนนั้นจึงเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง จากนั้นตำรวจคนนั้นจึงหันไปหากลุ่มอันธพาลพวกนั้น แล้วพูดสั้นๆว่า "อัดมันเลย" เท่านั้นแหละอันธพาลพวกนั้นก็เขามารุมทำร้ายวัยรุ่นคนนั้นทันที วัยรุ่นคนนั้นพยายามหนีเอาตัวรอดจนได้ แต่ด้วยความ 'งงๆ' สงสัยในสิ่งที่เกืดขึ้นจึงลองโทรศัพท์ไปที่ สน.สำเหร่ เจ้าหน้าที่รับสายเป็นเสียงผู้ชาย เมื่อเขาทราบว่าคนที่โทรมาเป็นวัยรุ่นคนเดิม เขาจึงต่อว่าด้วยน้ำเสียงที่ไม่พอใจ และประโยคหนึ่งที่เจ้าหน้าที่พูดก็คือ "อ้าว! แล้วคุณหนีไปทำไม ทำไมไม่อยู่ที่เดิม" หลังจากผ่านคืนนั้นไป ต่อมาจึงทราบจากชาวบ้านแถวนั้นว่า อันธพาลพวกนั้นก็อาศัยอยู่ที่อาคารพานิชย์หน้าปากซอยนั้นแหละ และเป็นที่รู้กันของคนระแวกนี้ว่าขายยาบ้า อีกทั้งพวกนี้ก็สนิทกันกับตำรวจ สน.สำเหร่เป็นอย่างดี เมื่อมองขึ้นไปแถวหน้าปากซอยก็เห็นเหมือนมีป้ายโฆษณาเก่าๆ รณรงค์อะไรสักอย่างที่เขียนว่า "รักในหลวง หวงลูกหลาน ต้านภัยยาเสพติด" ลงชื่อ สน.สำเหร่... มันแปลกนะครับที่เรารู้ๆอยู่ทั้งบ้านที่อยู่คนร้าย ทั้งชื่อสน.นั้น แต่ก็เหมือนเป็นเรื่องปกติ ที่เล่าถึงเรื่องนี้เพราะวัยรุ่นคนนั้นเหมือนกับเอลี่(Heli)เอามากๆที่เป็นเพียงส่วนเล็กๆในสังคม ไม่เคยคาดฝันว่าจะมายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเลย และต้องพบกับเรื่องที่ไม่สามารถพึ่งพาใครได้ นอกจากตัวของเราเอง
     เอลี่(Heli)เด็กหนุ่มโรงงานที่พยายามเอาตัวรอดและแก้ไขวิกฤติอย่างใจหายใจคว่ำ ทำเพื่อน้องสาว ทำเพื่อครอบครัว ในหนังที่สนุกที่สุดเรื่องนึงของปีนั้น Heli






0 ความคิดเห็น:

บางสิ่งบางอย่าง...ที่หายไป

Something in the Air : บางสิ่งบางอย่าง...ที่หายไป

        Something in the Air (2012) คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวการเมืองกับศิลปะ ถ้าเพื่อนๆลองเอารูปภาพ รูปถ่าย หรือภาพโปสเตอร์อะไรก็ได้ ไปวางทิ้งตากแดดเอาไว้ ผลที่ตามมาเมื่อเวลาผ่านไปคือ ภาพนั้นจะถูกแดดเลียสีซีดลงเรื่อยๆราวกับมีบางสิ่งบางอย่างหายไปในอากาศ โทนสีในภาพที่จะจางหายไปก่อนคือสีเหลืองกับสีแดง เหลือไว้เพียงสีฟ้าที่จะหายไปช้ามาก ภาพยนตร์เรื่อง Something in the Air นี้ถ่ายทำเป็นโทนสีฟ้าหรือสีเทอร์ควอยซ์ตลอดทั้งเรื่อง ประดุจภาพที่ถูกแดดเลียสี
        Something in the Air หรือ Après mai (แปลตามชื่อฝรั่งเศสคือ After May) กล่าวถึงเหตุการณ์จริงหลังพฤษภาคม 1968 หลังการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการลุกฮือของนักศึกษาและความวุ่นวายทางการเมืองของฝรั่งเศส โดยมีศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ กิลล์นักศึกษาด้านศิลปะกับคริสทีนแฟนสาวของเขา
       สำหรับอุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละเหตุการณ์ความขัดแย้งนั้น ความคิดมักถูกแบ่งออกเป็น 2ขั้วบนจุดยืนที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีจุดยืนร่วมกันนั้น บางครั้งเราไม่อยากใช้คำว่าจุดยืนเดียวกัน แต่อยากใช้คำว่าจุดยืนใกล้เคียงกันมากกว่า เพราะในขั้วเดียวกันก็ยังมีความคิดที่แตกต่าง ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะนี่ไม่ใช่การกรี๊ดดารา หรือท่านผู้นำว่าไงก็ว่าตามกัน เพราะถ้าใครคิดเช่นนั้นก็คงใกล้เคียงกับคำว่าถูกล้างสมอง หรือเสี่ยงต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ความขัดแย้งนั้นก็อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยถ้าเทียบกับเป้าหมายร่วมกัน ทีมถ่ายทำสารคดีนำภาพยนตร์ของเขามาฉาย เมื่อหนังจบลงสหายท่านหนึ่งกล่าวว่าการถ่ายทำเป็นแบบคลาสสิก ซึ่งขัดแย้งกับหลักการไม่เอาจารีตนิยม New ideas require a new language แต่แน่นอนว่าหลายคนคงตั้งคำถามในใจว่า กะอีแค่หนังโฆษณาชวนเชื่อเนี่ยะอะนะ จะอะไรกันนักกันหนา บางครั้งเรื่องหยุมหยิมก็อาจทำให้พวกเขาสับสนได้ แต่อย่าลืมว่านี่เป็นภาพยนตร์จากมุมมองของวัยรุ่น พวกเขายังเป็นแค่วัยรุ่น แม้ กิลล์กับคริสทีนร่วมทั้งอเลนและเพื่อนคนอื่นๆของเขาจะอยู่ในกลุ่มนักศึกษาหัวเอียงซ้ายที่ต่อต้านรัฐ แต่พวกเขาก็มีความเข้มข้น แก่ บาง ไม่เท่ากัน คริสทีนนั้นค่อนข้างหัวรุนแรงกว่ากิลล์ เธอไม่สนใจการเรียนและเดินทางไปกับกลุ่มต่อต้าน ส่วนกิลล์นั้นไม่อาจทิ้งการเรียนศิลปะที่เขารักไปได้
       ในทางการเมืองกิลล์อาจแปลกใจว่าทำไมคริสทีนถึงยังทนต่อสู้ทั้งที่มันยากลำบากทำไมเธอยอมๆมันบ้างไม่ได้ ในขณะที่เขาบ่นไม่พอใจที่งานศิลปของตนถูกแก้ไขก่อนตีพิมพ์ซึ่งคริสทีนกลับมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยทำไมถึงยอมไม่ได้ล่ะ.. ราวกับว่าบางคนทนมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนอื่นได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา คริสทีนเองถึงแม้จะร่วมงานอย่างเต็มตัว แต่เธอก็เริ่มตระหนักว่าตนเองทำงานเหนื่อยในขณะที่แกนนำดูเหมือนจะสบายๆ
        ในขณะที่คริสทีน ร่วมทีมถ่ายทำสารคดีเสี่ยงตาย ส่วนกิลล์นั้นกลับไปเป็นเด็กในกองถ่ายละครนิยายวิทยาศาสตร์ย้อนยุคในอังกฤษ ที่หาความสมจริงไม่ได้ เผลอมีนาซีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
          ลอล่า เครตัน นักแสดงนำหญิงในบทคริสทีนโชว์พลังความเป็นดาราอย่างเด่นชัดจนได้รับรางวัล César Awards 2013 ในสาขา César Revelations ส่วน โอลิเวียร์ แอซสาแยส ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศสก็สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเวนิซมาครอง ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
         แม้ Something in the Air จะเป็นหนังการเมืองแต่ก็เป็นหนังวัยรุ่นค้นหาตัวตนในเวลาเดียวกัน ตัวละครที่มีสเน่ห์มากคนหนึ่งคือ ลอล่า แฟนเก่าของกิลล์ เธอเป็นคนรักอิสระเสรีมีความเป็นศิลปินสูง แม้เธอจะดูเป็นพวกฮิปปี้ขี้ยา มั่วเซ็กส์ กิลล์มักจะนำงานศิลปะของเขาไปให้เธอดูและวิจารณ์ว่าชอบชิ้นไหน และประโยคหนึ่งที่ ลอล่าพูดกับกิลล์ว่า "คุณโชคดีที่รู้ว่าคุณต้องการเป็นอะไร" เพราะจริงๆแล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสนั้น บางคนแก่แล้วก็ยังไม่รู้ตัวเองทำอะไรลงไป  








0 ความคิดเห็น:

เกมเร้นรัก : The Last Match

     

tlareleasing.com กล่าวว่ามันเป็นหนังชายรักชายที่เซ็กซี่และโรแมนติกที่สุดของปี 2013    
     The Last Match หรือ La Partida (ภาษาสเปนแปลว่า"เกม") เป็นเรื่องราวความรักและความรุนแรงในยานสลัมของฮาวาน่า โดยมีศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ เรเนีย และ โยสวานี่ สองวัยรุ่นเพื่อนซี้ที่ได้รู้จักกัน จากการเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆวัยรุ่นในละแวกนั้น เรเนียเป็นคนที่นี่ ส่วนโยสวานี่เป็นคนมาจากต่างถิ่น ทั้งคู่สนิทกันมากๆ และดูเหมือนอาจจะสนิทกันมากจนเกิดความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง แต่ขอโทษนะครับอย่าเพิ่งด่วนคิดไปว่านี่จะเป็นหนังรักหวานแหวว หน่อมแน่มแบบหนังเกย์วัยรุ่นนะครับ เพราะแท้ที่จริงแล้วมันเป็นหนังสะท้อนสังคม ที่ตีแผ่แนวคิดของวัยรุ่นที่ขายบริการทางเพศให้กับนักท่องเที่ยวเกย์ในคิวบา ตลอดจนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อความเป็นเกย์อันหลากหลายทั้งบวกและลบ อีกทั้งยังกระเทาะแก่นความเป็นมนุษย์ ที่มีทั้ง รัก โลภ โกรธ หลง แน่นอนว่าในโลกของความเป็นจริงไม่มีใครดีที่สุดและไม่มีใครเลวที่สุด ปัญหาเศรษฐกิจ วัตถุนิยม พวกเขาอยากได้ของดีราคาถูก อยากได้ของแบนด์เนม แต่ไม่มีตังค์ซื้อ ธุรกิจเงินผ่อนและของเถื่อนจึงเกิดขึ้น ดูแล้วไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไหร่นัก ที่เห็นเจ้าหนี้เงินนอกระบบตามทวงหนี้ หนี้สินอีรุงตุงนัง เข้าโรงจำนำเป็นว่าเล่น รวมทั้งการพนันระดับชาวบ้าน และสถาบันครอบครัวที่เปราะบางเพราะความยากจน ได้ถูกถ่ายทอดอยู่ในภาพยนตร์ 
      แต่สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างโดดเด่นก็คือ ทำให้เห็นภาพและบรรยากาศแถวท่าเรือของฮาวาน่าในยามราตรี ที่ผู้คนเดินกวักไกว คึกคัก ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เลือกซื้อสินค้ากันยังกับมาจ่ายตลาดนัด เพียงแต่สินค้าที่ว่านั้นคือ บริการทางเพศของชาวเกย์นั่นเอง เด็กหนุ่มแต่งตัวหล่อๆออกมายืนกันริมถนน เพื่อให้เลือกซื้อกันอย่างเปิดเผย และเป็นที่รู้กันของนักท่องเที่ยวชาวเกย์ เรียกว่าเป็นยานเงินสะพัด ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาที่นี่ (คงคล้ายๆพัทยาบ้านเรามั้งครับ?) 
     กลับไปดูความสัมพันธ์ของ เรเนียกับโยสวานี่ อีกครั้ง ดูเผินๆทั้งคู่เหมือนคู่เพื่อนซี้ทั่วๆไป ทั้งคุ่เล่นฟุตบอลดูเป็นแมน และที่สำคัญทั้งคู่ต่างก็มีแฟนสาวของตนเอง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่อาจเป็นเพียงแค่เรื่องสนุกๆชั่วครั้งชั่วคราว หรืออารมณ์ชั่ววูบเช่นนั้นหรือ? เรเนียนั้นนอกจากจะมีภรรยาแล้ว เขายังมีลูกเล็กๆอีกด้วย ในขณะที่ โยสวานี่กำลังถูกจับแต่งง่านกับลูกสาวเจ้าพ่อขายของเงินผ่อน 
     เฮม่าคือลูกสาวเจ้าพ่อ เป็นตัวละครที่เหมือนเป็นตัวแทนของผู้หญิงหัวสมัยใหม่มีความคิดก้าวหน้าและมองความเป็นเกย์ในด้านบวก เธอทำให้ผมนึกถึงเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยบอกผมว่า
"ผู้หญิงหลายคนชอบมีเพื่อนเป็นเกย์ เธอว่าถ้าผู้หญิงโผเข้าไปกอดเพื่อนผู้ชายอาจถูกมองว่าไม่งาม แต่ถ้ากอดเพื่อนเกย์ไม่มีใครว่าอะไร ได้ใกล้ชิดเพศตรงข้าม แถมเกย์สมัยนี้หน้าหล่อหุ่นเป๊ะ ดูดีกว่าผุ้ชายแท้ๆซะอีก" ยิ่งไปกว่านั้นผู้หญิงบางคนอาจชอบมีแฟนเป็นเกย์ด้วยซ้ำ เพราะคุยกันได้ทุกเรื่องเหมือนเป็นเพื่อน แน่นอนว่า"ได้แฟนเป็นเพื่อน ดีกว่าได้เพื่อนเป็นแฟน" เพราะความเป็นเพื่อนคือสิ่งที่สำคัญ แฟนเลิกกันไปแล้วก็กลายเป็นคนอื่น แต่เพื่อนยังไงก็ยังเป็นเพื่อนวันยังค่ำ และตัวละครอย่างเฮม่านั้นทำให้รู้ว่า ผู้หญิงที่มีแฟนเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียใจอีกต่อไป     
    ส่วนผู้หญิงอีกคน ลุดมิลา ภรรยาของเรเนีย เธอก็เหมือนผู้หญิงที่เราพบเห็นทั่วๆไป ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นคนกลางระหว่างสามีกับพ่อแม่ และสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจก็คือลูก
    นอกจากนั้นยังมีตัวละครสำคัญอีก อย่างเช่น ซิลวาโน่พ่อค้าสุดเขี้ยวแต่รักลูกดั่งดวงใจ, เทเรซ่าแม่ยายตัวแสบ และฮวนนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ที่อาจทำให้มิตรภาพของสองเพื่อนซี้เริ่มสั่นคลอน   
     โดยส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่ามันเป็นหนังโรแมนติกเหมือนที่นักวิจารณ์คนอื่นบอก (ซึ่งผมอาจคิดผิดก็ได้เพราะเพียงแค่มองต่างมุม) แต่เพราะการที่มันไม่โรแมนติกอย่างที่คิดนั่นแหละทำให้หนังดูมีมิติในความคิดผม 
     ผมมองว่า หนังได้สร้างประเด็นของความเป็นเกย์ที่กว้างขึ้น นี่ไม่ใช่หนังประเภทค้นหาตัวตน ไม่ใช่วัยรุ่นเกย์ชนชั้นกลางเรียนไฮสคูล ที่หมกมุ่นอยู่กับการค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง 
เรเนีย ยากจนเกินกว่าจะมัวมาค้นหาตัวเอง เขาอาจเป็นเหมือนตัวแทนของเด็กขายบริการเกย์ในยุคสมัยนี้ ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์ และไม่มีรสนิยมทางเพศแน่ชัดนักอาจเรียกว่าเป็นไบเซ็กช่วล ได้ทั้งหญิงและชาย รุกและรับ แม้เขาจะชอบพูดว่าผมไม่ใช่ตุ๊ด และอยากเป็นรุกมากกว่ารับ แต่พอถึงเวลากับลูกค้าก็ไม่สามารถเลือกอะไรได้มากนัก เขาอาจดูมีเล่ห์เหลี่ยม และดิ้นรนเพื่ออยู่รอดไปวันๆ แม้จะมีความฝันตามประสาวัยรุ่นอยากเป็นดารานักฟุตบอล มีเงิน มีชื่อเสียง เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วๆไป 
     ซึ่งต่างจากโยสวานี่ ที่ดูไม่มีความฝันอะไร เขาเหมือนเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองตามลำพัง ไม่มีภาระอะไร โยสวานี่ เป็นเกย์อีกรูปแบบ เขามีรสนิยมทางเพศที่ชัดเจน และไม่สนใจผู้หญิงเลย แม้ว่าจะมีเซ็กส์กับแฟนสาวของตน ก็เป็นแบบขอไปทีแน่นอนว่าเขาไม่ใช่คนดีเด่อะไรและผลประโยชน์ต่างตอบแทน แม้ว่าเราจะเห็นเขามีเช็กส์กับเกย์ หรือให้กระเทยใช้ปากให้ ก็ดูทำไปแบบฝืนใจ แน่ชัดว่าเรื่องเซ็กส์สำหรับโยสวานี่นั้นไม่ใช่กับใครก็ได้ เขาเป็นคนที่อ่อนไหว และบางครั้งทำในสิ่งที่คนไม่ใช่เกย์อาจไม่เข้าใจ 
      หนังเรื่องนี้มีหลายๆอย่างที่คล้ายคลึงกับสังคมบ้านเรามากๆ เวลาผมได้ยินใครพูดประมาณว่า "เด็กต่างจังหวัดเข้ามาขายตัวในเมืองกรุงเป็นเพราะ วัตถุนิยมและความฟุ้งเฟ้อ" ผมจะรู้สึกทันทีว่าคนพูดไม่รู้จริง อาจด้วยข้อมูลเก่าๆ หรือคิดเองจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ล้าสมัย อีกทั้งยังรับสื่อที่นำเสนอด้านเดียวเพียงเพื่อสร้างภาพด้านคุณธรรม โดยที่ไม่รู้เลยว่าวัยรุ่นอย่างโยสวานี่ในเมืองไทยมีเยอะมาก และพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อเงิน โยสวานี่ต่างจากเรเนีย เขาไม่ได้สนใจเงินทองมากนัก แล้วเขาทำเพื่ออะไร??? คำตอบอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้นั่นเองครับ
       ผู้กำกับ อันโตนิโอ เฮนส์ เคยทำหนังเกย์วัยรุ่นเถื่อนๆเรื่องเยี่ยมมาก่อนหน้านี้ นั้นคือ Clandestinos (2007)





0 ความคิดเห็น:

แสงสลัวในหัวใจโพล้เพล้



   Angelina Nikonova วิพากษ์สังคมรัสเซียในปัจจุบันผ่านผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกจากการกำกับของเธอ โดยมี Olga Dykhovichnaya แสดงนำ ร่วมโปรดิวส์และเขียนบทด้วยกัน ทั้ง2สาวช่วยกันถ่ายทอดภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมนี้ อันบรรจุความคิดที่กล้าหาญ ท้าทาย โดยกวัดแกว่งติแผ่ปัญหาต่างๆในสังคม ปัญหาครอบครัวทั้งรากหญ้าและชนชั้นกลาง ตลอดจนปัญหาการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงต่อสตรี การล่วงละเมิดทางเพศเด็กโดยพ่อแม่เอง การรังแกประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจและหน่วยราชการต่างๆ หรือแม้แต่การดูถูกเหยียดหยามคนอื่นจากสิ่งที่เห็นเพียงเปลือกนอกของผู้คน รวมทั้งความมีน้ำใจที่เหือดหายไปจากสังคม

   Twilight Portrait หรือ Portret v sumerkakh เล่าถึง มารีน่า(Olga Dykhovichnaya) หญิงสาวชนชั้นกลางที่ดูผิวเผินเหมือนมีชีวิตที่ราบรื่น มีเพื่อนฝูงที่ดี มีสามีที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี แต่ทุกอย่างนั้นมันดีแล้วจริงหรือ? มารีน่า ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์แผนกเด็ก ซึ่งแน่นอนเธอมักได้พบเห็นปัญหาเด็กถูกทำร้ายโดยคนใกล้ชิดมาบ้าง แต่มีอยู่เคสหนึ่งที่เธอให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั้นคือ เด็กสาวคนหนึ่งที่ถูกพ่อแท้ๆข่มขืน จนมีอาการซึมเศร้า มารีน่าพยายามแก้ปัญหาโดยคุยกับผู้เป็นแม่ของเด็ก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ในขณะที่งานมีปัญหา แต่ชีวิตส่วนตัวของมารีน่ากลับมีปัญหายิ่งกว่า เธออยู่กินกับสามีนักธุรกิจที่ไม่ค่อยมีเวลาให้นักและไม่อยากมีลูก ด้วยความหงอยเหงาเธอจีงแอบนัดกับชู้รัก เพื่อมีเซ็กส์ในโรงแรมแห่งหนึ่งย่านดาวน์ทาวน์ แต่หลังจากแยกย้ายกับชู้รัก สิ่งที่เลวร้ายอย่างไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับเธอ เมื่อเธอถูกตำรวจ3คนรุมข่มขืนอย่างโหดเหี้ยม ขณะหารถแท็กซี่กลับบ้าน มารีน่าไม่ได้บอกใครนอกจากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเธอก็พยายามหาทางแก้แค้นด้วยวิธีของเธอเอง รวมทั้งหาวิธีการช่วยเหลือเด็กสาวคนนั้นด้วย

   มีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำให้ผมรู้สึกถึงตรรกะแนวคิดบางประการ นั้นคือฉากที่มารีน่ายืนต่อคิวซื้อของกินอยู่ ในขณะนั้นเองมีชายวัยกลางคนคนหนึ่ง เข้ามาเสนอขายกล้องถ่ายรูปดิจิตอลให้ โดยบอกว่ามีความจำเป็นต้องการเงินไปซื้อยา จึงอยากขายกล้องที่ลูกสาวซื้อให้เป็นของขวัญ แล้วก็พยายามอธิบายสัพคุณของกล้องอันนี้ว่ามีฟังก์ชั่นTwilight Portrait (คือถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเอง) มารีน่าตัดสินใจช่วยซื้อให้ ในขณะที่คนยืนต่อแถวใกล้ๆกันมองว่าเป็นเรื่องถูกหลอก โง่ๆ
   ผมรู้สึกได้ทันทีเลยว่า บางครั้งคนบางคนก็กลัวเหลือเกินกับการเป็นคนโง่ ที่จริงแล้วการจะช่วยเหลือคนอืนหรือไม่นั้น มีผลลัพธ์อยู่แค่2อย่างเมือตัดสินใจผิดพลาดนั่นคือ ถ้าเราช่วยเหลือเขา แต่สุดท้ายรู้ว่าถูกเขาหลอกเราก็จะกลายเป็นคนโง่ กับ การที่เราไม่ยอมช่วยเหลือเขาทั้งที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เราก็จะกลายเป็นคนไม่มีน้ำใจ เราทุกคนต่างรู้ดีว่า2อย่างนี้อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน มารีน่าเองก็เช่นกันเธอเลือกที่จะช่วยเขา เพราะเธอเองก็เคยประสพเหตุการณ์ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แต่กลับไม่มีใครยอมช่วยเหลือมาก่อน  สำหรับมารีน่าแล้ว ความโง่เป็นแค่ปัญหาของปัจเจกบุคคล แต่ความไม่มีน้ำใจต่างหากที่เป็นปัญหาของสังคม

   ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจนำเสนอไปไกลกว่านั้นเพราะนอกจากความไม่มีน้ำใจแล้ว ความอำมหิตที่ซ่อนในจิตใจของมนุษย์ก็เช่นกัน คนโง่ฆ่าใครไม่ได้ถ้าปราศจากความอำมหิต ราวกับว่าที่สังคมมีแต่ความวุ่นวายไม่ใช่เพราะว่าสังคมเต็มไปด้วยคนโง่ๆ แต่เพราะว่าสังคมเต็มไปด้วยคนที่จิตใจอำมหิตต่างหาก



0 ความคิดเห็น:

Ernest & Celestine เห็นหมีหนูไหม?


ในบรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ 2014นี้ ถ้าจะกล่าวว่า The Great Beauty คือหนังที่เชิดชูแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากที่สุด แน่นอนว่า Ernest & Celestine ก็คือขั้วตรงข้ามสุดตัวอย่างไม่ต้องสงสัย Ernest & Celestine ตั้งคำถามต่อค่านิยม ขนบธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมานั้น ว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องจริงแล้วหรือ..? (โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ว่าจะแนวคิดหัวก้าวหน้า หรืออนุรักษ์นิยมก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเหตุผล หรือที่มาของแนวคิดในแต่ละคน ผู้เขียนจึงไม่อาจหาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์ใครได้ นอกจากเนื้อหาในภาพยนตร์ล้วนๆ แต่หากมีข้อความใดรบกวนจิตใจ โปรดให้อภัย และอย่าถือสาผู้เขียนเลย)

"หนูอยู่ข้างล่าง หมีอยู่ข้างบน" 
ใช่แล้ว! มันเป็นแบบนี้มาเสมอ...
คุณต้องเข้าใจนะบางอย่างเปลียนได้...

Ernest & Celestine เป็นการ์ตูนที่ว่าด้วยระบบชนชั้น และการแบ่งแยกสังคมเป็น2ฝ่าย ดังสโลแกนที่ว่า ."หนูอยู่ข้างล่าง หมีอยู่ข้างบน"(Mice downstairs, bears upstairs) แต่ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็มักมีคนที่แตกแถวเสมอ หรือมีความคิดที่ฉีกจากจารีตผ่านงานศิลปของตน ดังเช่น Sergei Parajanov กับภาพยนตร์ The Color of Pomegranates (1968) ที่ทำให้เขาเป็นบุคคลต้องห้ามของรัสเซีย, Ai Weiwei กับงานศิลปะท้าทายรัฐบาลจีน, Victor Hugo ถ่ายทอดความอคติของสังคมผ่านนวนิยายกับ Les Misérables ("เหยื่ออธรรม")และ Notre-Dame de Paris ("คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม"), John Lennon กับเพลง Imagine รวมทั้ง Banksy ศิลปินข้างถนนเสียดสีสังคมผ่านงานกราฟฟิตี้เปี่ยมอารมณ์ขัน และศิลปินในโลกนี้อีกมากมายที่เป็นหัวก้าวหน้า และแน่นอนว่า Ernest & Celestine ด้วย Ernestเป็นนักแต่งเพลง ส่วน Celestine เป็นจิตรกร และพวกเขาคือศิลปินที่กำลังจะค้นพบว่าตนเองนั้นคิดต่างจากคนในสังคม

-เจ้าหมียักษ์วายร้าย
การปลูกฝังความคิด ความกลัว และความเกลียดชัง เป็นประเด็นหนึ่งของความแตกแยกที่ถูกพูดถึงในภาพยนตร์ ณ. สถานสงเคราะห์เด็กแห่งหนึ่ง ที่เหล่าน้องหนูถูกปลูกฝังความคิดผ่านนิทาน "เจ้าหมียักษ์วายร้าย" ที่เด็กๆพากันกลัวหัวหดถึงความดุร้าย ป่าเถื่อนของมัน ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆเพราะเราเองทุกคนล้วนแล้วแต่เคยถูกปลูกฝังความคิดทำนองนี้มาแล้วทั้งนั้นเหมือนกัน ลองถามเด็กประถมว่า รู้ไหมว่าประเทศเราถูกพม่ารุกรานเสียกรุงศรีอยุธยากี่ครั้ง เชื่อว่าเด็กทุกคนตอบได้หมด แต่ลองถามใหม่ว่า แล้วรู้ไหมว่าเรารุกรานไปตีเขมรกี่ครัง หรือมลายูกี่ครั้ง อย่าว่าแต่เด็กเลยผู้ใหญ่หลายคนก็ยังตอบไม่ได้ รู้เพียงแต่ว่าพวกเราเป็นฝ่ายคนดี เป็นชนชาติที่รักสงบ และพม่าคือผู้ร้ายในสายตาเด็กๆเสมอ แต่ก็อย่าแปลกใจเลยเพราะทุกๆประเทศก็เลือกสอนประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเอง ปลูกฝังให้รักชาติทั้งนั้นแหละ เหมือนกับที่คุณหมอฟันบรรยายถึงความยิ่งใหญ่และเสียสละของบรรพบุรุษในการสร้างชาติ'ชาวหนู'ให้ เซเลสทีนฟัง โอ้..พระเจ้า! นี่เขากล้าตั้งคำถามกับความรักชาติในหนังการ์ตูนด้วยหรือนี่? 555ก็แหงล่ะ นี่มันการ์ตูนฝรั่งเศส ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องศิลป ถ้าเป็นเมืองไทยล่ะก็คงโดนแบนชัวร์...และอย่าเพิ่งช็อคล่ะเพราะนี่แค่น้ำจิ้ม ...จอห์น เลนอน กล่าวว่า "ไม่มีชาติก็ดีนะ จะได้ไม่มีใครอ้างว่าต้องฆ่าใครหรือยอมตายเพื่อมัน" (เนื้อเพลงImagine)  "Imagine there's no countries....   It isn't hard to do...   Nothing to kill or die for... " และที่รู้ๆคือ จอห์น เลนอน ถูกยิงตาย

-ถูก -ผิด และความเชื่อที่ไม่ต้องอาศัยความเข้าใจ 
ขณะที่มาดามลาเกรส เล่านิทาน เธอทำฟันหลุดทำให้พูดไม่ชัด เด็กๆส่วนใหญ่จึงฟังไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอพูด แต่กลับมีเด็กคนหนึ่งพูดว่าฉ้นฟังเข้าใจ และเกิดการโต้เถียงกัน มันเป็นการยากที่จะอนุมานว่าคนเราสามารถเชื่อโดยที่ไม่ต้องเข้าใจได้ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกกับรุ่นผู้ใหญ่ในศาลของชาวหนู  พวกเขาเถึยงกัน ทะเลาะกันในลักษณะเดิมๆ เหมือนกับความคิดที่ถูกปลูกฝังไปแล้วไม่ได้เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ เด็กอย่างไรผู้ใหญ่ก็อย่างนั้น และการเถียงว่าใครถูก-ใครผิด, ใช่-ไม่ใช่, ควร-ไม่ควร, yes-no ถูกนำใช้สื่อความหมายตั้งแต่ฉากต้นๆเรื่อง และฉากท้ายๆเรื่อง ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอแม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะคนเรานั้นไม่ได้คิดเหมือนกันไปซะทั้งหมดทุกเรื่อง ดูๆไปการ์ตูนฝรั่งเศสเรื่องนี้ เขาสอนให้เด็กของเขารู้จักคิด มากกว่ารู้จักเชื่อ...

-ความรักที่ยิ่งใหญ่ 
พ่อแม่นั้นย่อมรักลูกของตนมากกว่าใคร จะเรียกว่าเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ได้หรือเปล่า? ในภาพยนตร์ Ernest & Celestine ตั้งคำถามกับประเด็นนี้ซะแรงเชียวผ่านพ่อแม่หมีครอบครัวหนึ่งที่สอนลูกของพวกเขาให้เข้าใจถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ แม้จะเอาเปรียบคนอื่น แน่นอนว่ารักลูกของตนเองแต่ทำร้ายลูกคนอื่น คนแบบนี้พบเห็นได้ทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ผมชอบที่หนังสร้างตัวละครที่เถียงแทนคนอื่นราวกับว่านี่แหละคือ การออกนอกกรอบความคิดรักตัวเอง เออเนสท์เถียงแทนเซเลสทีนในขณะเซเลสทีนก็เถียงแทนเออเนสท์ ในโลกที่ดูเหมือนคู่ขนานกันไป นอกจากนั้นหนังยังเสียดสีระบบตุลาการที่เต็มไปด้วยอคติ เชื่อเขาเลย!! ว่านี่แหละหนังการ์ตูนเด็กๆ จริงๆ!!

-ทำไมต้อง..การ์ตูนเด็กๆ..?
เพราะความจริงมันแสนโหดร้าย บางทีคนเราก็อยากเปลี่ยนเรื่องราวให้เป็นเหมือนนิทานอย่าง Life Of Pi (2012) ปัจจุบันมีการ์ตูนหลายๆเรื่องที่มีแนวคิดเสียดสีสังคม มีประเด็นที่ตึงเครียด ท้าทายความเชื่อดั้งเดิม และบางครั้งผู้ชมอาจคิดไปว่าเด็กๆจะแยกแยะออกไหม? แต่จะว่าไปการ์ตูนที่การวาดเป็นสไตล์สีน้ำแบบนี้ก็อาจมีแต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆนี่แหละที่อยากดู เพราะปัจจุบันการ์ตูนนิยมสร้างเป็น3Dจากคอมพิวเตอร์มากมาย แม้ว่า Ernest & Celestine จะสอดแทรกประเด็นทางสังคมที่รุนแรงก็จริง แต่ก็โดดเด่นมากๆในงานด้านภาพ และดนตรีประกอบที่ส่งให้หนังดูเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจ ด้วยเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ขบขัน สดใสร่าเริง โดยเฉพาะคาแล็กเตอร์ที่น่ารักมากๆ และที่ผมอยากจะกล่าวก็คือ เด็กอาจไม่ได้โง่ อย่าคิดไปเองว่าคนอื่นเขาโง่ อย่าคิดไปเองว่าเขาแยกแยะไม่ออก เพราะจริงๆแล้วผู้ใหญ่ต่างหากที่ควรกลับไปมองตัวเองว่าเป็นไม้แก่ที่ดัดยากหรือเปล่า เป็นผู้หลับผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยอคติไม่สามารถรับความคิดที่แตกต่างได้หรือเปล่า.. ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้พิพากษาในการ์ตูนเรื่องนี้...

-เห็นหมีหนูไหม..?
สรุปแล้ว Ernest & Celestine เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเชิงสัญลักษณ์ค่อนข้างมาก แต่ก็ดูสนุกด้วย และตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบเพราะตัวเอกที่ทำแต่เรื่องแย่ๆ แต่ก็พอมีเรื่องดีๆบ้าง และรับรองว่าคุณจะได้เห็น หมี กับ หนู อย่างแน่นอนครับ












0 ความคิดเห็น:

คำพิพากษาเวอร์ชั่นเดนมาร์ก


ก่อนอื่นต้องยอมรับอย่างหนึ่งครับว่า หนังพล็อตเรื่องบีบคั้นหัวใจแบบนี้ อาจไม่ชื่นมื่นนักสำหรับช่วงเวลาที่อยากปล่อยวางของปุถุชนคนหนึ่ง เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันนั้นก็ตึงเครียดพออยู่แล้ว แม้จะมีความอยากรู้อยู่ลึกๆว่าทำไมนะ? หนังเดนมาร์คเรื่องนี้ถึงได้รับการกล่าวขวัญในแง่บวกจากนักวิจารณ์ทุกสำนักเป็นเวลาข้ามปีทีเดียว เพราะหนังออกฉายในปี2012 เข้าร่วมเทศกาลหนัง Toronto International Film Festival 2012 และที่ทำให้ถูกพูดถึงอย่างมากก็คือในเทศกาลหนังเมืองคานส์ Cannes Film Festival 2012 ปีเดียวกับ Amour ของMichael Haneke เพราะที่นี่เองทำให้ Mads Mikkelsen คว้ารางวัลนักแสดงฝ่ายชายยอดเยี่ยมไปครอง แต่ในปีนั้นThe Huntไม่ได้ถูกส่งเข้าชิงออสการ์ แต่ทางเดนมาร์กกลับเพึ่งเลือกหนังเรื่องนี้เป็นตัวแทนส่งเข้าชิงออสการ์ในปี 2014นี้ และอย่าเพิ่งคิดนะครับว่าหนังจะกระแสตก เพราะหนังได้เข้าชิงและได้รับรางวัลจากหลายๆสถาบันภาพยนตร์ ตลอดปี 2012, 2013 จนถึง 2014 จนล่าสุดในขณะที่เขียนบทความนี้ The Hunt ก็ได้รับการเสนอชื่อเป็น1ใน5หนังเข้าชิงรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากทั้ง ลูกโลกทองคำ 2014 และ Independent Spirit Awards 2014 ไปแล้ว (ซึ่งยังรอลุ้นผลอยู่)

The Hunt (หรือ Jagten) เป็นผลงานของผู้กำกับ Thomas Vinterberg ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้นึกถึงวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ของไทยเรื่อง คำพิพากษา นวนิยายของ ชาติ กอบจิตติ ที่กล่าวถึงภารโรงคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของ "คำพิพากษา" จากสังคม และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของค่านิยมสังคมที่มีผลกระทบอันรุนแรงต่อปัจเจกบุคลที่ไม่ได้มีหน้ามีตาในสังคม เนื้อเรื่องได้นำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง แต่กระนั้นก็แฝงไปด้วยความรู้และข้อคิดที่น่าสนใจว่า คนดีคือคนแบบไหน แล้วกลุ่มคนที่เรียกว่าคนดีนั้นทำในสิ่งที่สมควรแล้วจริงหรือ สำหรับ The Hunt นั้นก็เช่นกัน เป็นเรื่องราวในช่วงวันก่อนคริสต์มาสเล่าถึง ลูคัส หนุ่มใหญ่ใจดีคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่ง เขาเลิกลากับภรรยาไปแล้วแต่รอวันที่จะได้สิทธิดูแล มาคัส ลูกชายวัยรุ่นของเขา ลูคัส เป็นคนใจดีและเป็นที่รักของเด็กๆ แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับถูกใส่ร้ายว่าทำอนาจารเด็กอนุบาลคนหนึ่ง เป็นเหตุให้ถูกคนทั้งเมืองรังเกียจ และนำมาซึ่งความรุนแรง

สำหรับคนประเภทที่คิดเองเออเอง คนกลุ่มนี้มีอยู่จริงในสังคมดัดจริตในปัจจุบัน ที่คิดว่าความคิดตนเองถูกต้องกว่าของคนอื่นเสมอ และเมื่อคิดว่าใครคนหนึ่งทำผิด หรือเลว พวกเขาก็พร้อมที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อจัดการกับคนๆนั้น แม้วิธีนั้นจะละเมิดสิทธิคนอื่น หรือทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนก็ตาม เพราะคิดว่าการได้กำจัดคนเลวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่สนใจว่าคนเลวที่ว่านั้นมีสิทธิจะโต้แย้งหรือเปล่า สิทธิ์ที่จะซื้อข้าวกิน เข้าโบสถ์ สิทธิที่จะได้รับการรักษา สิทธิความเป็นมนุษย์หายไปหรือเปล่า

แต่สิ่งที่ผมรู้สึกแปลกประหลาดใจที่สุดก็คือ ในโลกนี้มีภาพยนตร์หรือวรรณกรรมมากมายหลายเรื่องที่พูดถึงเรื่องราวความไม่ยุติธรรมหรืออคติในสังคมแบบนี้ แต่ทำไมคนในสังคมทุกวันนี้ก็ยังปล่อยให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าดูหนังดูละครแล้วไม่เคยย้อนมองดูสังคมของตนเองเลย แถมบางคนก็เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงอีกด้วยโดยเฉพาะคนในสังคมโซเชียลที่เชื่อและแชร์ความคิดด้านเดียว ไอ้คำว่าฟังหูไว้หูแทบไม่มีในสมอง เมื่อปักใจเชื่อในสิ่งไหนแล้ว แทบจะไม่มองเหตุผลของอีกฟากเลย บางคนเป็นถึงระดับครูบาอาจารย์ เป็นคณบดีด้วยซ้ำ รองคณบดีบางคนถึงกับบอกว่าจะกระทืบนักศึกษาที่คิดแตกต่างจากคนอื่นก็ยังมีเลย แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือคนในสังคมบางส่วนเห็นดีเห็นงามไปกับรองคณะบดีท่านนั้นซะอีก ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าพวกเขาเป็นอะไรกันไปหมด จิตใจอำมหิตไม่ต่างจากชาวบ้านใน "The Hunt" หรือใน "คำพิพากษา"เลย ที่พร้อมจะทำร้ายผู้อื่น ฆ่าผู้อื่นที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็นคนไม่ดี

แต่แน่นอนว่าโลกนี้ไม่ได้มีคนที่คิดเหมือนกันซะทั้งหมด ส่วนคนที่เห็นต่างบางคนก็ไม่อยากออกความเห็นอะไร เพราะเขาอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องของตน หรือกลัวถูกคนพวกนี้เล่งเป้ามาที่ตน ทางที่ดีอย่าไปยุ่งด้วยดีกว่า แต่คนบางคนก็พร้อมจะลุยกับพวกดัดจริตชนกลุ่มนี้เพื่อปกป้องคนที่ถูกรังแก เหมือนมาคัส ลูกชายของลูคัส ที่พร้อมจะลุยเพื่อปกป้องพ่อของเขา และยังพอมีคนที่เป็นกลางๆ ไม่งั้นหนังคงหดหู่น่าดูอีกทั้งตัวลูคัสเองก็เข้มแข็งกว่าไอ้ฟักเยอะ และมีวิธีการตอบโต้ในแบบของเขา

สิ่งที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากหนึ่งในหนังที่ทำให้ผมน้ำตาไหลไม่หยุดเลย และเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงถูกกล่าวขวัญได้นานข้ามปีขนาดนี้ แต่สิ่งที่สุดยอดที่สุดในThe Hunt นั่นก็คือฉากตอนจบของหนังที่สรุปทุกอย่างได้อย่างแยบยล จนผมคิดว่าถ้าหนังไม่ได้จบแบบนี้ก็คงไม่มีใครพูดถึงมันมากขนาดนี้แน่นอน

เมื่อเราหันกลับมามองสังคมของโลกปัจจุบันที่เราพบเห็น เมื่อใดก็ตามที่ดัดจริตชนพวกนี้ถูกตำหนิ พวกเขามักจะหาคำพูดสุดเนี้ยบมารองรับการกระทำแย่ๆเพื่อให้ตัวเองดูดีได้เสมอ เช่น "ฉันทำเพื่อพ่อ"บ้างล่ะ "ทำเพื่อพระเจ้า"บ้างล่ะ หรือแม้แต่ทำเพื่อประเทศชาติ...




1 ความคิดเห็น:

ความเป็นแม่ในสังคมแตกแยก


Child's Pose ภาพยนตร์โรมาเนียปี2013 ผลงานของผู้กำกับ Calin Peter Netzer ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน(63rd Berlin International Film Festival) ซึ่งที่นี่เองภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงคว้ารางวัลสูงสุดคือ Golden Bear มาครอง นอกจากนั้นหนังยังเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต (Toronto International Film Festival 2013) สำหรับนักแสดงอาวุโส Luminita Gheorghiu ถูกเสนอชื่อเข้าชิง Best Actress ในยูโรเปียนฟิล์มอวอร์ด (26th European Film Awards) และยังชนะรางวัล Telia Film Award ที่ Stockholm International Film Festival 2013อีกทั้งหนังยังถูกเลือกอย่างเป็นทางการจากโรมาเนียให้เป็นตัวแทนส่งเข้าร่วมประกวดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม 2014นี้ด้วย (86th Academy Awards)

เรื่องราวของคุณนายคอเนเลียเศรษฐีนีไฮโซวัย 60 ปีที่ยังไม่ยอมแก่ ซึ่งระหองระแหงกับลูกชายและลูกสะใภ้ตามภาษาคุณแม่ผู้จู้จี้ที่หวงลูกชายคนเดียวของเธอ แต่แล้ววันหนึ่งเธอได้รับแจ้งว่าขณะนี้ลูกชายอยู่ที่โรงพักแถวชานเมือง แน่นอนว่าคุณแม่ตรงไปที่นั้นทันที...

ความรักจากผู้เป็นแม่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทุกคนรู้ดี มันคือการให้ที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน  เมื่อใดที่ลูกมีปัญหาแม่ก็แทบจะนั่งไม่ติด ต้องหาทุกวิถีทางเพื่อช่วยลูกให้ได้ แม้จะต้องขัดแย้งกับผู้คน ขัดแย้งกับสามี หรือแม้กระทั้งขัดแย้งกับตัวลูกของตนเองแม่ก็ยอม ขอเพียงให้ช่วยลูกให้ได้ก็พอโดยไม่สนใจหรอกว่าลูกต้องการให้ช่วยหรือเปล่า เพราะคนเป็นแม่นั้นทนเห็นลูกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากไม่ได้จริงๆ  เพราะสำหรับแม่แล้วห่วงใยลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเข้าใจในความรักนั้นหรือเปล่าแม่ก็ยังรักลูกอยู่ดี แต่ถ้าลูกคนไหนเข้าใจแม่ก็อาจถือว่าแม่คนนั้นโชคดี แม้ว่าลูกจะโตเป็นควาย มีลูกมีเมียแล้ว ก็ยังเป็นเด็กๆสำหรับในสายตาแม่เสมอ และนี่อาจเป็นมุมมองของความเป็นแม่



แต่ถ้าเป็นมุมมองของคนในสังคมล่ะ ความรักนั้นอาจต้องถูกจำกัดความใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นมันก็จะกลายเป็น 'พ่อแม่รังแกฉัน' เมื่อวันก่อนผมไปนั่งกินข้าวกับเพื่อนที่ร้านอาหารหนึ่ง เหลือบไปเห็นโต๊ะข้างๆ เขามากันหลายคนดูเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ ในกลุ่มนั้นมีเด็กคนหนึ่งอายุน่าจะไม่เกิน10ขวบ คงเป็นลูกของพวกเขา ขณะนั่งกินข้าวอยู่ ข้างๆจานข้าวก็มี แท็บเล็ทตั้งอยู่เล่นเกมไปด้วย ผมกับเพื่อนยังคุยกันว่าถ้าเป็นสมัยพวกเราคงโดนผู้ใหญ่ดุแล้ว เด็กสมัยนี้โชคดีจัง ก็อาจจะจริงที่กินข้าวไปด้วย นั่งเล่นเกมไปด้วย ก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนนิ ฆ่าสัตว์ประหลาดไปด้วย ได้ฝึกสมอง?!!? เด็กที่ถูกสปอยล์นี้ช่างโชคดีจริงๆเลย ลองมองดูสังคมชนชั้นกลางในปัจจุบันสิครับ มีแต่คนที่ถูกสปอยล์มา ต้องได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการเท่านั้น ผิดหวังบ้างไม่เป็น แพ้ไม่เป็น ยอมเขาบ้างสักหน่อยก็ไม่ได้ บางคนไปไกลถึงขนาดคิดว่าตนเองต้องมีสิทธิมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ แน่นอนว่า เด็กที่ถูกสปอยล์นี้ช่างโชคดีจริงๆ เพราะคนที่โชคร้ายคือคนอื่นที่ต้องยอมคนพวกนี้ต่างหาก เมื่อพ่อแม่รู้เช่นนี้เรื่องอะไรจะไม่สปอยล์ลูกของตนล่ะ อยากให้ลูกได้มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว พ่อแม่บางคนถึงกับตั้งชื่อลูกมีความหมายว่ามีสิทธิมากกว่าคนอื่นก็ยังมี ช่างภูมิใจเหลือเกินที่ลูกของตนอยู่เหนือลูกคนอื่น แม้คอเนเลียสาวใหญ่ไฮโซจะรักลูกของตนแค่ไหนก็มีสิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้นั้นก็คือ คนอื่นเขาก็รักลูกของเขาเช่นกัน ถ้าหยุดเพ่งมองแต่เรื่องของตัวเอง แล้วลองมองไปที่เรื่องของคนอื่นบ้าง บางทีอาจมีคำตอบที่คิดไม่ถึงรออยู่ ประโยคสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้บ่งบอกความหมายที่ไปไกลกว่าภาพที่เห็น เพราะความรู้สึกนั้นมันมากมายเหลือเกิน



0 ความคิดเห็น: