Navigation Menu

featured Slider

Featured Post

Random Post

Sons of Norway : เมื่อพังก์ปะทะฮิปปี้ ขบถเจอขบถ

Sons of Norway
: เมื่อพังก์ปะทะฮิปปี้ ขบถเจอขบถ

     เรื่องราวของครอบครัวเล็กๆอันแสนอบอุ่นครอบครัวหนึ่งที่มีอันต้องล้มสลายเมื่อพบกับโศกนาฏกรรมการจากไปของผู้เป็นมารดาอย่างกระทันหันจากอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้ผู้เป็นพ่อจมอยู่ในความโศกเศร้า พร้อมมีอาการแปลกๆเพี้ยนๆ และความสัมพันธ์ที่เริ่มเหินห่างกับลูกชายคนโตที่อยู่ในวัยสับสน
     นี่คือหนังว่าด้วยพ่อกับลูกชายอีกเรื่องที่จะทำให้คุณประทับใจ โดยเฉพาะการแสดงที่เทหมดน่าตักของ Sven Nordin ในบทคุณพ่อหัวก้าวหน้า สถาปนิกหนุ่มใหญ่ ผู้มีทัศนคติเปิดกว้าง นิยมฮิปปี้ นู้ด และจิตวิญาญเสรี ในขณะที่ลูกชายวัยรุ่นของเขา นิโคลัย กำลังหลงไหลดนตรีแนวพังก์โดยมี John Lydon หรือฉายา Johnny Rotten (ไอ้จ้อนเน่า) แห่งวง The Sex Pistols เป็นไอดอลของเขา

ทำไมต้องขบถ?

     ทั้งฮิปปี้ และพังก์ ล้วนเป็นแนวคิดขบถต่อสังคม ความหมายของ 'ขบถ' ในเรื่องนี้หมายถึงแนวคิดที่ต่างจากค่านิยมในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมีทั้งดีและไม่ดี มันคือหนังที่พูดถึงอิสระทางความคิด ที่ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด และได้เรียนรู้ คุณพ่อเข้าใจสิ่งนี้ดี แต่ครูใหญ่อาจไม่เข้าใจ
     ครูบาอาจารย์หรือผู้หลับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรจะสนับสนุนให้โอกาสหรือรับฟังทัศนคติ'ขบถ'ของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ต่อต้านแน่นอนว่า'ขบถ'เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องขบถแบบมีเหตุผลไม่ใช่ตามแฟชั่นตามกระแสหรือตามเพื่อนเฮไหนฮานั่น ดังคำที่ว่า "Learn the rules then break some" จงเรียนรู้กฏเกณฑ์แล้วทำลายมันซะบ้าง นั่นหมายความว่า ก่อนที่คุณจะขบถได้คุณต้องศึกษากฏเกณฑ์หรือหลักการต่างๆให้รู้จริงซะก่อน แล้วถ้าคุณพบว่าหลักการที่ยึดถือกันมายาวนานนั้นมีช่องโหว่ที่คนอื่นอาจมองข้าม และคุณคิดว่าคุณมีเหตุผลหักล้างที่เหนือกว่าคุณถึงจะ'ขบถ'ได้ แน่นอนว่าช่องโหว่นี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอกันได้ง่ายๆถ้าไม่เก่งจริง คุณต้องใช้ความคิดอย่างมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้รู้จัก'ขบถ' รู้จักคิดต่างไม่ใช่ทำตามๆกันเชื่อตามๆกัน เพราะคนเก่งจริงๆไม่ได้มีมาบ่อยนัก และแน่นอนต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

พังก์จริงหรือพังก์ปลอม ??

     นิโคลัยอาจสับสนในความเป็นพังก์ของตนและคุยกับพื่อนถึงพังก์จริง พังก์ปลอม ในขณะที่พ่อของเขาเป็นพวกฮิปปี้ แต่อยากมีส่วนร่วมกับพังก์ ถ้าความเป็นพังก์มองที่แนวคิดมากกว่าการแต่งตัว
อาจเป็นไปได้ที่ เด็กเรียนเรียบร้อยที่ชีวิตเรียบๆแต่มีความคิดเป็นของตนเองไม่เหมือนใคร ก็อาจมีความเป็นพังก์มากกว่า เด็กซ่าหลังห้อง ที่แต่งตัวตามแฟชั่นเลียนแบบดารานักร้องพังก์ร็อค และหลงคิดไปเองว่าตัวเองเป็นพังก์
     Sons of Norway (2011) ถูกพูดถึงว่าเป็นหนังที่แสดงทัศนะทางสังคมและการเมืองที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งที่มาในรูปแบบหนังวัยรุ่น Coming of Age สร้างจากหนังสือของ Nikolaj Frobenius




Tender Waves : กระแสละมุน

Tender Waves (2013) เป็นภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ กระชุ่มกระชวยหัวใจ สุดครื้นเครง ตามแนวถนัดของผู้กำกับ Jirí Vejdelek อยู่แล้ว แต่ก็เป็นความครื้นเครงบนความตึงเครียด เพราะหนังใช้ฉากหลังเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ การเมืองอันร้อนระอุในปี 1989 ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยใน เชคโกสโลวาเกีย ที่เรียกว่า การปฏิวัติกำมะหยี่(The Velvet Revolution)

หนังพาเราไปพบกับชีวิตของVojta เด็กดีขี้อาย กับครอบครัวเพี้ยนๆของเขา อันประกอบไปด้วย คุณพ่อขี้โมโหที่ครั้งหนึ่งเคยทำผิดพลาดในการแข่งขันว่ายน้ำที่ช่องแคปอังกฤษ และคุณแม่คนสวยอดีตดาราสเก็ตน้ำแข็ง ทั้งที่มีครอบครัวแล้วแต่ก็ยังพราวสเน่ห์ ให้หนุ่มใหญ่หมายมาตีท้ายครัว อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ขี้โอ่ กับนักดนตรีรูปหล่อ

Tender Waves ไม่ได้เน้นประเด็นทางการเมืองมากนัก แต่เน้นประเด็นการเลี้ยงดูบุตรหลานของสถาบันครอบครัวมากกว่าในชั่วโมงพละทุกครั้ง Vojta ต้องไปนั่งเฉยๆข้างสนามดูเพื่อนๆเล่นบอล เด็กผู้หญิงนักเรียนใหม่จึงแปลกใจหันไปถามเพื่อนหญิงคนนึงว่า"นายคนนั้นเขาป่วยเป็นอะไรเหรอ?" เพื่อนเธอตอบกลับมาว่า "เปล่า เขาไม่ได้ป่วยเป็นอะไร แม่ของเขาต่างหากที่ป่วย" อืม เป็นคำตอบที่น่าคิดนะ มันคือมุกตลกจิกกัดการเลี้ยงดูเด็ก เพราะแม่ของVojta ขอครูไว้ ไม่อยากให้ลูกมือเจ็บกลัวจะเล่นเปียโนไม่ได้ Vojta เป็นเหมือนตัวแทนความหวังของทั้งพ่อและแม่ ทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีความต้องการให้ Vojta
เติมเต็มปรารถนาลึกๆในใจของพวกเขา พูดง่ายๆก็คือสนองNeedตัวเองนั่นเอง แม่อยากให้เขาเอาดีทางด้านศิลปะและดนตรี เพราะค้นพบพรสวรรค์ของเขาตั้งแต่เด็กๆ จึงพยายามฝึกฝนเขามา แม้ว่าวันสอบเข้าโรงเรียนดนตรีVojta จะเล่นเปียโนผิดพลาด เนื่องจากมือเคล็ด (แต่ไม่ใช่เพราะเล่นกีฬาอะไร แต่เป็นเพราะคืนก่อนสอบเขาใช้มือสำเร็จความไคล่ตัวเองมากไป)

ส่วนคุณพ่อยิ่งพิลึกหนัก เขาต้องการให้ลูกเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ โดยฝึกลูกตั้งแต่ยังเด็กเล็กมาก ทำให้ให้เขาจมน้ำ และโตมากลายเป็นคนที่กลัวการว่ายน้ำ และนี่เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญของเขา เพราะเขาดันไปแอบหลงรักสาวนักกีฬาระบำใต้น้ำ

Tender Waves เป็นหนังที่ดูสนุก ตลก สุดหรรษา และดนตรีประกอบที่อิ่มเอมใจ นอกจากนั้นยังได้ Vojtěch Dyk แห่งวง Nightwork มาทำเพลงประกอบให้อีกด้วย นอกจากจะแสดงเป็นครูดนตรีตัวปัญหาในเรื่อง

Sweet Mud : เกิดแต่ตม


ในปี 2006 ถือเป็นปีที่แปลกประหลาด ของการแจกรางวัลทางภาพยนตร์ของอิสราเอล(Awards of the Israeli Film Academy 2006) (หรือออสการ์ของอิสราเอล) เพราะหนังที่ได้ Best Picture ของปีนั้นมี2เรื่อง (เป็นการรับร่วมกัน) และ1ใน2เรื่องที่ว่าก็คือ Sweet Mud หนังเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้นี่เอง (อีกเรื่องคือ Aviva, My Love (2006)) นอกจากนั้น Sweet Mud ยังได้เป็นตัวแทนประเทศไปชิงออสการ์ แม้จะไม่ผ่านเข้ารอบแต่หนังก็ได้รางวัลใหญ่ระดับสากลจาก 2 สถาบันในปี 2007 นั่นคือ สามารถคว้า Grand Jury Prize: World Cinema Dramatic จาก Sundance Film Festival 2007 มาครอง และ คว้า Crystal Bear จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival 2007)อีกด้วย
   
Sweet Mud เป็นหนังดีที่แสดงให้เห็นถึงความคิดอันหลายหลายของมนุษย์ และการแยกถูกผิดชั่วดีอาจไม่ใช่เรื่องที่จะมาตัดสินกันได้ง่ายๆ อีกทั้งขนบธรรมเนียมที่ถูกยึดถือกันมานั้นถูกสั่นคลอนด้วยคนตัวเล็กๆคนหนึ่ง
   
Sweet Mud ภาพยนตร์อิสราเอลกำกับโดย Dror Shaul เป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของตัวเขาเอง มันถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำในวัยเยาว์ของเขาที่เติบโตมาใน คิบบุตซ์ (kibbutz) กับความผูกพันธ์ที่มีต่อแม่ผู้ซึ่งมีภาวะทางจิตใจไม่ปกติ หนังถ่ายทำใน kibbutz ของ Ruhama และ Nir Eliyahu

คิบบุตซ์ (kibbutz) คืออะไร
เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก พากันอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานยังดินแดนที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ในครั้งนั้นชาวยิวส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมตามชนบท หรือที่เรียกว่า ‘คิบบุตซ์’ (Kibbutz) ปัจจุบันทั่วประเทศอิสราเอลมีคิบบุตซ์อยู่มากกว่า 250 แห่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากคิบบุตซ์จะเป็นนิคมเกษตรกรรม ยังเป็นเหมือนนิคมปกครองตนเองด้วย คล้ายๆระบบสังคมนิยม มีส่วนกลางในการบริหาร ตลอดจนการจำแนกแจกจ่าย และวางระเบียบการบริโภคผลผลิต แต่ก็มีการโหวตออกเสียงเมื่อมีความเห็นต่างแบบประชาธิปไตย ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงให้เห็นว่า สมาชิกทุกคนในนิคมจะต้องทำงาน โดยพวกเขาจะแบ่งหน้าที่กันในส่วนต่างๆ

นอกจากนั้นในคิบบุตซ์ ยังมีส่วนของสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน ดูแลเยาวชนของพวกเขาเอง ตั้งแต่ทารกไปจนถึงวัยเรียน เหมือนโรงเรียนประจำ คิบบุตซ์ เป็นสิ่งที่ชาวอิสราเอลภาคภูมิใจมาก เพราะมันนำความเจริญมาสู่ประเทศนับจากอดีต ทำให้ชาวโลกรู้ว่า พวกเขาเป็นสุดยอดเกษตรกร พวกเขาสามารถปลูกพืช ทำไร่ในทะเลทรายได้ ใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบพอเพียง แม้คิบบุตซ์จะเป็นสถานที่อันภาคภูมิใจของผู้คนด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง แต่สำหรับ Shaul มันคือคุกดีๆนี่เอง และก้ำกึ่งกับการละเมิดสิทธิ,ทารุณกรรม อีกทั้งความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น Shaul กล้านำเสนอมุมมองในอีกด้านมืด ผ่านสายตาช่วงวัยเยาว์ของเขา Sweet Mud แสดงให้เห็นถึงอคติดั่งหัวโขนที่สวมใส่ และพฤติกรรมที่ดูง่อยเปลี้ยของระบบ พวกเขาแบ่งปันผลผลิตอย่างเช่นคุณย่าของShaul ทำแยมแต่เธอก็จะแบ่งให้เฉพาะคนที่เธอพอใจเท่านั้น, ครูผู้ช่วยสาวคนหนึ่งคุยกับหัวหน้าต้องการเลื่อนขั้นเป็นครู หัวหน้าบอกเธอว่าครูต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่มากนะ "แน่นอน..คุณก็รู้ว่าฉันมีความรับผิดชอบในหน้าที่มาก" เธอตอบกลับ เขาจึงบอกเธอว่า งั้นตอนนี้ขอเอาเธอหน่อย เธอตอบว่าโทษทีฉันลืมเอาถุงยางมา หัวหน้าจึงตำหนิเธอว่า ไหนบอกมีความรับผิดชอบในหน้าที่ไง..แค่นี้ยังลืม?? หนังเสียดสีตั้งแต่เรื่องเล็กๆไปยังเรื่องเลวร้ายสุดๆ นี่ยังไม่รวมถึงเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่แอบมีเซ็กส์วิตถารกับสัตว์ในฟาร์มที่เขาเลี้ยง น่าทึ่งที่ Shaul กล้าตีแผ่ความเลวร้ายใน คิบบุตซ์  แต่ที่น่าที่งยิ่งกว่าคือ ความใจกว้างของคนอิสราเอลกล้ายอมรับหนังเรื่องนี้ และยกย่องมันเป็นหนังยอดเยี่ยม แถมยังเป็นตัวแทนประเทศไปชิงออสการ์อีกด้วย
   
Sweet Mud เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 1974 กล่าวถึง Dvir (Tomer Steinhof) หนุ่มน้อยผู้กำลังจะอายุครบ13ปี เตรียมเข้าพิธีบาร์ มิตซวาห์ (bar mitzvah คือ พิธีฉลองทางศาสนาของชาวยิวให้กับเด็กอายุ 13 ปี กล่าวคือ เด็กชายยิว เมื่ออายุ 13 ปี จะต้องเข้าพิธีเพื่อแสดงว่าพวกเขาได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่หลังจากที่ผ่านพ้นอายุ 13 ปีไปแล้ว) Dvir อาศัยอยู่กับพี่ชาย Eyal (Pini Tavger) และแม่ของพวกเขา Miri (Ronit Yudkevitz) ในคิบบุตซ์ Miri จะถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบำบัดทางจิตบ่อยครั้ง Dvirและพี่ชายยังคงดูแลแม่ของพวกตนในขณะที่ความลับการจากไปของผู้เป็นบิดากำลังจะถูกเปิดเผยในไม่ช้า พร้อมๆกับการมาเยือนของชายชาวสวิสคนรักใหม่ของแม่ ผู้มีส่วนทำให้เรื่องราวในชีวิตของ Dvir พลิกผัน ในขณะที่รักแรกของวัยรุ่นกำลังเบ่งบาน เมื่อเขาพบกับ Maya (Daniel Kitsis) เด็กสาวมาใหม่จากฝรั่งเศส Sweet Mud เป็นหนัง Coming of age ที่เนื้อหาเข้มข้น และประทับใจ











Tangerines (2013) วิกฤตไร่ส้ม : เมื่อมนุษย์ถูกแบ่งแยกด้วย'ชาติ'

 เป็นหนังที่ว่าด้วยศักดิ์ศรี ความเชื่อ อคิติ และมิตรภาพ ปีนี้หนังที่โดนใจผมอย่างแรงจะเป็นหนังเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก Tangerines หรือ วิกฤตไร่ส้ม หนังเอสโตเนียที่ฝ่าด้านหนังตัวเต็งสาขาหนังต่างประเทศ โดยสร้างเซอร์ไพรส์เล็กๆด้วยการเข้าชิงลูกโลกทองคำ และเซอร์ไพรส์หนักขึ้นไปอีกเมื่อได้เป็น1ใน5หนังเข้าชิงออสการ์2015นี้ โดยเขีย Corn Island, Lucia de B และ Force Majeure ออกไปและยังเป็นหนังเอสโตเนียเรื่องแรกที่ได้ชิงออสการ์หนังต่างประเทศอีกด้วย
     เมื่อออสการ์คราวที่แล้ว ผมสะดุดใจกับหนังเรื่อง Omar (2013) ว่าด้วยความขัดแย้งอิสราเอล–ปาเลสไตน์ (ในมุมมองของปาเลสไตน์) แต่มาคราวนี้ ผมค่อนข้างเทใจให้กับคุณปู่ไร่ส้มใน Tangerines อย่างมาก หนังที่มีฉากหลังเป็นสงครามจอร์เจีย-อับฮาเซีย ปี1992 (ในมุมมองของทุกฝ่าย) สงครามนี้มีที่มาคร่าวๆดังนี้ครับ หลังจากสหภาพโซเวียตล้มสลาย จอร์เจียแยกตัวออกมา และถือว่าอับฮาเซียเป็นส่วนหนึ่งของจอร์เจีย ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาประเทศ แต่อับฮาเซียเองต้องการแยกประเทศออกจากจอร์เจียอีกที จอร์เจียจึงส่งทหารมาปราบจนเกิดการสู้รบปล้นฆ่ากับคนในพื้นที่ ทำให้รัสเซียยืนมือเข้ามาช่วยอับฮาเซีย โดยอ้างว่าต้องการปกป้องคนรัสเซียในพื้นที่นี้ ผลสรุปของสงครามนี้คือจอร์เจียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กลับไป
     แม้มันจะเป็นหนังสงคราม แต่ก็คงเป็นหนังสงครามที่เล็กที่สุดก็ว่าได้ เพราะเล่นกันอยู่แค่ไม่กี่คนเอง แต่นั่นไม่ได้ทำให้พลังของหนังดูน้อยเลยสักนิด Tangerines เป็นเรื่องราวของคุณปู่ช่างไม้ชาวเอสโตเนีย ที่อาศัยอยู่ในย่านหมู่บ้านชาวเอสโตเนียที่ตั้งอยู่ในอับฮาเซีย ช่วงเกิดสงครามรุนแรง ซึ่งชาวเอสโตเนียส่วนใหญ่ที่นี่ตัดสินใจอพยพกลับบ้านเกิด ในหมู่บ้านจึงเหลือคนไม่กี่คน หนึ่งในนั้นมี มากูส เจ้าของไร่ส้มที่อยู่บ้านใกล้ๆกัน ซึ่งคุณปู่ช่วยงานเขาอยู่(ทำลังใส่ส้มให้เขา) แต่ไร่ส้มของมากูสกำลังเกิดวิกฤตไปพร้อมๆกับสงครามนั่นคือไม่มีแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม แต่โอ้แม่เจ้า!..ปัญหาไร่ส้มยังแก้ไม่ตก ก็มีปัญหาใหม่เข้ามาอีกครับท่าน นั่นคือ ดันมีทหารจอร์เจียกับรัสเซียมายิงกันตายหน้าบ้านซะงั้น คุณปู่กับมากูสช่วยทหารที่รอดชีวิตไว้ได้ 2 นายแต่บาดเจ็บสาหัส ส่วนคนที่ตายก็เอาไปฝังในป่า แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทหาร2นายที่ช่วยมานั้นดันเป็นคนละฝ่ายกันแต่ต้องมาพักรักษาตัวอยู่ในบ้านคุณปู่ด้วยกันนี่สิครับ จนอาจเดาไม่ออกว่าใครจะฆ่าใครได้ก่อนกัน และเหตุการณ์ที่พลิกผันเป็นระยะๆก็เป็นเสน่ห์อันร้ายกาจของหนังเรื่องนี้ นอกเหนือไปจากการเฉือดเฉือนบทบาทของนักแสดงหลักทั้ง 4 คนที่มีคาแล็กเตอร์แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นนิสัยใจคอของพวกเขาผ่านการกระทำ และบทสนทนาพื้นๆ แต่กลับแฝงไปด้วยทัศนคติที่แหลมคม ทั้งในแง่สังคม ศาสนา วัฒนธรรม และดนตรี
ดนตรีนั้นคือชีวิต :
     ทหารคนหนึ่งรอดตายมาพร้อมเทปคาสเส็ทม้วนหนึ่งที่พังแล้ว เราเห็นเขานั่งค่อยๆซ่อมเทปม้วนนั้นอยู่ตลอด สิ่งที่เราคิดได้ตามมาก็คือเทปม้วนนั้นคงต้องสำคัญกับไอ้หมอนี่แน่ๆ หรือไม่เขาก็คงต้องชอบฟังเพลงแหงๆ แต่ขณะนั้นเพลงพื้นเมืองในวิทยุดังงุ้งงิ้งๆ เขาถึงกับขอให้เปลี่ยนเพลงได้ไหม เพราะเพลงนั้นมันทำให้เขาเครียด... ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือของศิลปินเพลงชาวจอร์เจีย Niaz Diasamidze นอกจากนั้นยังผนวกกับเพลงของศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับ Irakli Charkviani เจ้าของฉายาว่า "Mepe" (ภาษาจอร์เจียแปลว่า 'ราชา') ทหารรับจ้างชาวเชซเนียคนหนึ่งพูดว่า เขาก็ชอบเพลงจอร์เจียเหมือนกัน แม้จะถูกกัดว่า แล้วยังชอบแผ่นดินของจอร์เจียด้วยล่ะสิ...(เชอะ อารมณ์สีย!!)
ชาติ :
     ดูเผินๆเหมือนหนังจะเอนมาทางจอร์เจียเนื่องจากทีมงานและทุนสร้างเป็นจอร์เจียกับเอสโตเนีย แต่มันจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรือ? โดยเฉพาะฉากย่างบาร์บีคิวแบบเชเชน และเราจะเห็นทหารจอร์เจียมักยกเรื่องประวัติศาสตร์ในอดีตที่ดินแดนตรงนี้เป็นของจอร์เจียมาแต่เดิม แต่แล้วบทหนังกลับกัดเจ้าของทุนสร้างคำโตแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยประโยคของฝ่ายตรงข้ามที่ว่า 'อดีตจะสำคัญอะไร ในเมื่อ ณ.เวลานี้คุณย่างบาร์บีคิวไม่เป็น..' ซึ่งแน่นอนความจริง ณ.เวลานี้คือคนในอับฮาเซียที่นี่ ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นจอร์เจียอีกแล้ว.. และการบุกเข้ามาปล้นฆ่าคนในพื้นที่ก็คงหาความชอบธรรมได้ยากเต็มทีสำหรับจอร์เจีย แต่ก็ใช่ว่าหนังจะเข้าข้างอีกฝ่าย เพราะทหารรัสเซียก็ป่าเถื่อนโหดร้ายสุดๆไม่แพ้กัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ)
     หนังจิกกัดความเป็นชนชาติอยู่ตลอด ฉากคุณปู่กับเพื่อนบ้านเอาศพทหารไปฝังในป่าตอนต้นเรื่อง อยู่ดีๆคุณปู่ก็นึกขึ้นได้ว่าต้องฝังแยกกัน ไม่รู้จะขำหรือเวทนาดี ก็ตายหมดแล้วนี่ ยังแบ่งแยกอีกนะครับ หรือว่า 'ชาติ' เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์อุปโลกขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน และแผ่นดินที่แย่งกันนี้ตายไปก็เอาไปไม่ได้
ศาสนา :
     ในภาพยนตร์คู่กรณีของจอร์เจีย นอกจากจะมีอับฮาเซียกับรัสเซียแล้ว ยังมีตัวละครที่เป็นชาวเชชเนีย (หรือ เชเชน) ซึ่งในเรื่องเป็นทหารรับจ้างเป็นส่วนหนึ่งของทหารรัสเซีย ชาวเชชเนียส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
     แต่ที่น่าสังเกตุก็คือ Misha Meskhi ที่รับบทเป็นทหารจอร์เจียก็หน้าตาเหมือนแขกๆอยู่ แต่คนจอร์เจียส่วนใหญ่75%นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ ซึ่งในภาพยนตร์เมื่อมีบรรดาทหารเข้ามาในบ้าน ดูแค่หน้าตาคนในบ้าน ก็คงเดาไม่ออกเลยว่าใครเป็นชาติไหนกันแน่ ถ้าไม่ได้พูดคุย หรือฉากจอร์เจียกับสร้อยรูปไม้กางเขน ที่เชเชนพูดว่าไม่ต้องห่วงเราให้เกียรติทุกศาสนา ราวกับสงสัยว่าทำไมต้องคิดว่าคนอิสลามเกลียดคนคริสต์ ก็คุณทหารคนเดียวกันนี่แหละ ที่พูดว่า "ผมจะฆ่ามันเพื่อพระเจ้า" แล้วคุณปู่สวนว่า "ฆ่าคนที่ไม่มีทางสู้เนี่ยะ พระเจ้าคุณชอบเหรอ?" แน่นอนว่าศาสนาไม่ได้ทำให้คนแตกแยก แต่คนแตกแยกอาจใช้ศาสนามาอ้าง
อุดมการณ์ กับ อคติ :
     ทหารรัสเซียคนหนึ่งปักใจเชื่อว่า ทหารเชเชนคนหนึ่งเป็นทหารจอร์เจีย เลยบอกให้เขาพูดภาษาเชเชนให้ฟังหน่อยเพื่อพิสูจน์ โดยที่ตัวเองก็ฟังภาษาเชเชนไม่ออกอยู่ดี.. สุดท้ายก็ยังคิดว่าเขาเป็นจอร์เจียอย่างเดิม การยึดมั่นในความคิดมันดูใกล้ๆกับ 'อคติ'
      คุณปู่มักจะถามทหารว่า ทำไมถึงมาเป็นทหาร? นายมีครอบครัวหรือเปล่า? ทหารคนหนึ่งตอบว่าเขามีแม่เพียงคนเดียว แต่ทิ้งท่านมาเป็นทหารเพราะคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ฟังแล้วน่าชื่นชมในหนังเรื่องอื่น แต่ในหนังเรื่องนี้กลับกลายเป็นความน่ารังเกียจ คุณทิ้งแม่มาได้ยังไงกัน หรือแม้แต่ลูกชายคุณปู่จากไปบอกว่า"จะไปสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินของเรา" ทั้งที่คุณปู่บอกว่านี่ไม่ใช่สงครามของใคร ดูเหมือนความรักชาติเป็นสิ่งที่น่ากลัวไปเสียแล้ว เพราะมันทำให้คนทิ้งพ่อ ทิ้งแม่ แล้วลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันได้ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คุณปู่ถามว่าใครให้สิทธิในการฆ่าคนอื่นกับพวกนาย ทหารตอบว่าสงครามไง..
     Tangerines (2013) เป็นหนังที่ดีมีเนื้อหาที่เข้มข้น มันดูสนุกมากที่สำคัญมันซึ้งมากด้วย และอาจประทับใจในสไตล์ลูกผู้ชายตัวจริง (ถ้าIda เป็นหนังสไตล์ผู้หญิงที่สุดแห่งปี Tangerines ก็คงเป็นหนังสไตล์ผู้ชายที่สุดแห่งปี เช่นกัน)         



Sister : เด็กขี้ขโมยกับพี่สาวใจแตก


Sister : เด็กขี้ขโมยกับพี่สาวใจแตก

     ผมเคยแปลกใจว่าทำไมหนังหลายๆเรื่องถึงเชิดชูการกระทำที่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น โดยเฉพาะการขโมย เป็นจอมโจรบ้างล่ะ ปล้นคนรวยมาช่วยคนจนบ้างล่ะ หรือขโมยเพราะความยากจนสุดแท้แต่ จะกล่าวอ้างกันไป โดยเฉพาะหนังสำหรับเด็กๆ การ์ตูน พวกโจรสลัด ที่ถูกยกย่องเป็นฮีโร่ เด็กๆดูก็สนุกสนานชอบอกชอบใจ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าคุณเคยถูกขโมยของรัก หรือของสำคัญในชีวิตไป คุณคงไม่คิดทำหนังประเภทนั้นแน่ๆ ผมชอบหนังอย่าง Bicycle Thieves (1948) ของ วิตตอริโอ เดอ ซิกา ที่แสดงให้เห็นว่าคุณไม่อาจอ้างเอ่ยความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิ์คนอื่นได้แม้ว่าคุณคิดว่า มันจำเป็นต้องทำสักแค่ไหน ฉันจำเป็นต้องขโมยจักรยานเขาเพราะฉันกำลังจะอดตาย แล้วคนที่ถูกขโมยล่ะมีใครสนใจความทุกข์ของเขาบ้าง Sister (2012) เป็นหนังอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาสังคม และการขโมยอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีงาม
     Sister (2012) กล่าวถึงเด็กกำพร้าไซม่อนและพี่สาวของเขากับความลับบางอย่างที่ถูกเก็บงำไว้ ซึ่งมันรอคอยวันประทุออกมา ไซม่อนหารายได้จากการขโมยอุปกรณ์กีฬาสกีของนักท่องเที่ยวแล้วเอาไปขายต่อในราคาถูกๆ หนังเปิดเรื่องด้วยการตามดูพฤติกรรมของเด็กคนนี้ ตั้งแต่เปิดดูโผยแบบสินค้าที่ต้องการ ตามติดเป้าหมาย เรียกว่าไม่ได้ขโมยซี้ซั้ว ขโมยอะไรก็ได้ แต่ขโมยตามใบสั่งนั่นเอง ไซม่อนมักจะบอกเพื่อนๆว่าอยากได้อะไรบอกเดี๋ยวจัดให้ สิ่งที่เห็นในตัวไซม่อนก็คือ เด็กอะไรว่ะ? พูดจายังกะผู้ใหญ่ จะว่าแก่แดดก็ไม่เชิง จะว่าไร้เดียงสาคงไม่ใช่แน่ๆ
     ส่วนหลุยส์พี่สาวของไซม่อน คือผู้หญิงที่คุณมองปุ๊บก็เดาได้ทันทีว่าเป็นวัยรุ่นใจแตก สํามะเลเทเมาแหงๆ ซึ่งเด็กๆละแวกนั้นเข้าใจว่าเธอเป็นกระหรี่ ทั้งทีเธอไม่ได้ขายตัว แต่เมื่อมองเธออีกทีคุณจะพบว่าที่จริงแล้วหลุยส์ดูเหมือนคนอมทุกข์ ด้วยหน้าตาที่เศร้าหมองตลอดเวลา เหมือนคนที่ติดอยู่กับอดีตและไม่อาจหลุดออกมาได้ นอกจากใช้ชีวิตไปวันๆ ในขณะที่หลุยส์ดูท้อแท้สิ้นหวัง แต่ไซม่อนกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขากล้าลุยกับปัญหา ยังคงร่าเริงในความเงียบเหงาตามลำพัง และปรับตัวได้อย่างดี รวมทั้งไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด จึงทำให้เขาดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน
     เคซี่ โมเต้ ไคล์น นักแสดงเด็กที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ เออร์ซูล่า เมเยอร์ มาแล้วในเรื่อง Home (2008) ซึ่งตอนนั้นรับบทเป็นจูเลียน ลูกคนเล็กในบ้าน (ในเรื่อง Sister (2012) มีฉากที่ไซม่อนโกหกคนว่าเขาชื่อ จูเลียน ด้วย) สำหรับเรื่อง Sisterนี้ ต้องถือว่าทำให้เขาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว เพราะมันทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลซีซาร์ 2013 สาขานักแสดงดาวรุ่งชายยอดเยี่ยม และคว้ารางวัลนักแสดงเด็กยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเด็ก Buster International Children's Film Festival รวมทั้งยังได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังนานานชาติฮาวาย และ Swiss Film Prize ในสาขานำชายยอดเยี่ยมเช่นกัน นอกจากนั้นหนังยังได้ ลีอา เซย์ดูส์ นางเอกจาก Blue Is the Warmest Color มารับบทหลุยส์พี่สาว และ จิลเลียน แอนเดอร์สัน นางเอกจากซีรี่ The X-Files มาแสดงในบทสมทบที่สำคัญ
     Sister (2012) ผลงานเรื่องที่2ของผู้กำกับเออร์ซูล่า เมเยอร์ ที่นับว่าประสบความสำเร็จมากๆ เพราะนอกจากจะได้รางวัลหมีเงิน สเปเชียลอวอร์ด จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน Berlin International Film Festival 2012 ก็ยังชนะรางวัลสูงสุดจาก Swiss Film Prize 2013 ในสาขาBest Picture และถูกเลือกให้เป็นตัวแทนสวิสเซอร์แลนด์เข้าชิงออสการ์ในปีนั้น และยังผ่านเข้าถึงรอบ Short List (9เรื่องสุดท้าย) แต่ไม่สามารถเข้าถึงรอบ 5เรื่องสุดท้ายได้ แต่มันกลับเป็น 1ใน5 หนังเข้าชิง Independent Spirit Awards สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้น
     Sister (2012) เป็นที่ถูกใจและได้รับคำชื่นชมท่วมท้นจากบรรดานักวิจารณ์ภาพยนตร์แทบทุกสำนัก และส่วนใหญ่จะชื่นชมตอนจบของมัน เพราะ เออร์ซูล่า เมเยอร์ ไม่ได้เก็บกวาดจนไม่เหลืออะไรไว้ให้คนดู แต่เธอกลับทิ้งเศษเสี่ยวของความรู้สึกบางอย่างไว้ และสิ่งนั้นมันมีค่าเหลือเกิน







Heli กับสิ่งที่ไม่น่าคุ้นเคย

เมื่อคนไม่มีเครื่องแบบ ต้องสู้กับคนในเครื่องแบบ

    Heli เป็นเรื่องราวของคนตัวเล็กๆในสังคมที่ต้องต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะสู้ได้ เอลี่(Heli)เด็กหนุ่มคนหนึ่ง และน้องสาวของเขา เอสเตลา(Estela)ที่เข้ามาพัวพันกับปัญหาระดับประเทศแบบไม่ทันตั้งตัว  Heli ไม่ใช่หนังแนวมาเฟียค้ายาเสพติดแบบที่เราคุ้นเคย แต่มันทำให้เห็น สิ่งที่เราคุ้นเคยในสังคมมากกว่า ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องที่น่าคุ้นเคย พูดง่ายๆก็คือ "แปลกแต่จริง" นั่นเอง
    ด้วย Heli เป็นหนังแตกติสท์ ดิบสุดโต่งแต่ก็ซึมลึกเหมือนสไตล์หนังทางยุโรปผนวกกับอินดี้ลาติน ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบของแปลก หรือชอบเสพงานศิลป์จากภาพยนตร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่มันเป็นที่ถูกใจของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ให้เข้าสายการประกวดหลักได้เข้าชิงปาล์มทองของปี 2013 นั้น และคว้ารางวัลใหญ่ 'ผู้กำกับยอดเยี่ยม'มาครอง อีกทั้งยังกวาดรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน รวมทั้งถูกเลือกเป็นตัวแทนเม็กซิโกเข้าชิงออสการ์ในปีนั้น
     ต้องยอบรับว่า Heli เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายภาพได้อย่างเด็ดขาด อารมณ์หนังโดดเด่นเกินบรรยาย และการดำเนินเรื่องที่แหลมคม ดูสนุกมาก แม้หนังจะดู 'เหว่อๆ' แต่ก็ 'จริงจัง' สุดๆในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดมิติที่ดูมีเอกลักษณ์ แปลกดีใช่ไหมล่ะ? แต่ที่แปลกกว่านั้นคือ มันเหมือนเหตุการณ์จริงในเมืองไทยเอามากๆนี่สิครับที่อยากจะพูดถึง เมื่อเร็วๆนี้หลายคนอาจเคยเห็นคลิปการฝึกทหารแบบแปลกๆในไทยที่ดังไปถึงสื่อต่างประเทศ แต่บอกได้เลยว่านั่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ของจริงมันยิ่งกว่านั้นเยอะครับ นอกจาก Heli จะพูดประเด็นระบบโซตัสของทหาร ยังพูดถึงการปฏิบัติงานของตำรวจ การรังแกคุกคามประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐ การอุ้มฆ่าของผู้มีอิทธิพล การสร้างภาพออกสื่อของกองทัพ แค่เอาทหารมาจูงคนแก่ข้ามถนนแล้วเรียกนักข่าวช่างภาพมาถ่ายทำคงเป็นเรื่องจิ๊บๆ (เช่นนั้นหรือ?) รวมถึงทฤษฎีสมคบคิดของตำรวจปราบยาเสพติดกับพ่อค้ายา ก็ดูเป็นเรื่องเดิมๆที่เรารู้ๆกันอยู่แล้ว (เช่นนั้นหรือ?) แต่ Heli กลับเล่ามันด้วยลีลาติดดินเอามากๆ และเชื่อเถอะว่าในปัจจุบันคงไม่มีหนังไทยเรื่องไหนกล้าหาญพอที่จะตีแผ่เรื่องแบบนี้ ในสถานการณ์ตอนนี้ (แต่อีกสักสิบปีไม่แน่) อาจเป็นเพราะสื่อหลักๆส่วนใหญ่ของบ้านเรายังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างความเชื่อ มากกว่าต้องการความจริง อาจเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนเองล้วนๆ และคนรุ่นใหม่ที่เหมือนถูกล้างสมองมาให้คิดตามๆกัน พูดเหมือนกันเดะ! เราอาจเห็นหนังไทยหรือละครที่เกี่ยวกับยาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลมาบ้างและผู้ร้ายมักเป็นนักการเมือง แต่เชื่อเถอะว่า หนังดัดจริตพวกนั้นช่างห่างไกลเหลือเกินกับความเป็นจริง
     ช่วงค่ำๆ เวลาประมาณ19นาฬิกา มีวัยรุ่นคนหนึ่งยืนคอยญาติอยู่หน้าปากซอยเจริญนคร 17 แต่แล้วมีอันธพาลกลุ่มหนึ่งประมาณ4คนเข้ามาพูดจาหาเรื่อง วัยรุ่นคนนั้นจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไป 191ขอความช่วยเหลือ ขณะที่รอตำรวจอยู่อันธพาลกลุ่มนั้นก็ได้แต่พูดด่า หาเรื่องอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะว่าเมาก็ไม่เชิง แต่ก็ยังไม่ได้ทำร้ายร่างกายใดๆ เมื่อตำรวจ2นายมาถึง ซึ่งตำรวจที่มาคนนึงไม่ได้ใส่เครื่องแบบและตัวใหญ่มากๆ ตำรวจได้สอบถามเรื่องราว วัยรุ่นคนนั้นจึงเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง จากนั้นตำรวจคนนั้นจึงหันไปหากลุ่มอันธพาลพวกนั้น แล้วพูดสั้นๆว่า "อัดมันเลย" เท่านั้นแหละอันธพาลพวกนั้นก็เขามารุมทำร้ายวัยรุ่นคนนั้นทันที วัยรุ่นคนนั้นพยายามหนีเอาตัวรอดจนได้ แต่ด้วยความ 'งงๆ' สงสัยในสิ่งที่เกืดขึ้นจึงลองโทรศัพท์ไปที่ สน.สำเหร่ เจ้าหน้าที่รับสายเป็นเสียงผู้ชาย เมื่อเขาทราบว่าคนที่โทรมาเป็นวัยรุ่นคนเดิม เขาจึงต่อว่าด้วยน้ำเสียงที่ไม่พอใจ และประโยคหนึ่งที่เจ้าหน้าที่พูดก็คือ "อ้าว! แล้วคุณหนีไปทำไม ทำไมไม่อยู่ที่เดิม" หลังจากผ่านคืนนั้นไป ต่อมาจึงทราบจากชาวบ้านแถวนั้นว่า อันธพาลพวกนั้นก็อาศัยอยู่ที่อาคารพานิชย์หน้าปากซอยนั้นแหละ และเป็นที่รู้กันของคนระแวกนี้ว่าขายยาบ้า อีกทั้งพวกนี้ก็สนิทกันกับตำรวจ สน.สำเหร่เป็นอย่างดี เมื่อมองขึ้นไปแถวหน้าปากซอยก็เห็นเหมือนมีป้ายโฆษณาเก่าๆ รณรงค์อะไรสักอย่างที่เขียนว่า "รักในหลวง หวงลูกหลาน ต้านภัยยาเสพติด" ลงชื่อ สน.สำเหร่... มันแปลกนะครับที่เรารู้ๆอยู่ทั้งบ้านที่อยู่คนร้าย ทั้งชื่อสน.นั้น แต่ก็เหมือนเป็นเรื่องปกติ ที่เล่าถึงเรื่องนี้เพราะวัยรุ่นคนนั้นเหมือนกับเอลี่(Heli)เอามากๆที่เป็นเพียงส่วนเล็กๆในสังคม ไม่เคยคาดฝันว่าจะมายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเลย และต้องพบกับเรื่องที่ไม่สามารถพึ่งพาใครได้ นอกจากตัวของเราเอง
     เอลี่(Heli)เด็กหนุ่มโรงงานที่พยายามเอาตัวรอดและแก้ไขวิกฤติอย่างใจหายใจคว่ำ ทำเพื่อน้องสาว ทำเพื่อครอบครัว ในหนังที่สนุกที่สุดเรื่องนึงของปีนั้น Heli






บางสิ่งบางอย่าง...ที่หายไป

Something in the Air : บางสิ่งบางอย่าง...ที่หายไป

        Something in the Air (2012) คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวการเมืองกับศิลปะ ถ้าเพื่อนๆลองเอารูปภาพ รูปถ่าย หรือภาพโปสเตอร์อะไรก็ได้ ไปวางทิ้งตากแดดเอาไว้ ผลที่ตามมาเมื่อเวลาผ่านไปคือ ภาพนั้นจะถูกแดดเลียสีซีดลงเรื่อยๆราวกับมีบางสิ่งบางอย่างหายไปในอากาศ โทนสีในภาพที่จะจางหายไปก่อนคือสีเหลืองกับสีแดง เหลือไว้เพียงสีฟ้าที่จะหายไปช้ามาก ภาพยนตร์เรื่อง Something in the Air นี้ถ่ายทำเป็นโทนสีฟ้าหรือสีเทอร์ควอยซ์ตลอดทั้งเรื่อง ประดุจภาพที่ถูกแดดเลียสี
        Something in the Air หรือ Après mai (แปลตามชื่อฝรั่งเศสคือ After May) กล่าวถึงเหตุการณ์จริงหลังพฤษภาคม 1968 หลังการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการลุกฮือของนักศึกษาและความวุ่นวายทางการเมืองของฝรั่งเศส โดยมีศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ กิลล์นักศึกษาด้านศิลปะกับคริสทีนแฟนสาวของเขา
       สำหรับอุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละเหตุการณ์ความขัดแย้งนั้น ความคิดมักถูกแบ่งออกเป็น 2ขั้วบนจุดยืนที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีจุดยืนร่วมกันนั้น บางครั้งเราไม่อยากใช้คำว่าจุดยืนเดียวกัน แต่อยากใช้คำว่าจุดยืนใกล้เคียงกันมากกว่า เพราะในขั้วเดียวกันก็ยังมีความคิดที่แตกต่าง ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะนี่ไม่ใช่การกรี๊ดดารา หรือท่านผู้นำว่าไงก็ว่าตามกัน เพราะถ้าใครคิดเช่นนั้นก็คงใกล้เคียงกับคำว่าถูกล้างสมอง หรือเสี่ยงต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ความขัดแย้งนั้นก็อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยถ้าเทียบกับเป้าหมายร่วมกัน ทีมถ่ายทำสารคดีนำภาพยนตร์ของเขามาฉาย เมื่อหนังจบลงสหายท่านหนึ่งกล่าวว่าการถ่ายทำเป็นแบบคลาสสิก ซึ่งขัดแย้งกับหลักการไม่เอาจารีตนิยม New ideas require a new language แต่แน่นอนว่าหลายคนคงตั้งคำถามในใจว่า กะอีแค่หนังโฆษณาชวนเชื่อเนี่ยะอะนะ จะอะไรกันนักกันหนา บางครั้งเรื่องหยุมหยิมก็อาจทำให้พวกเขาสับสนได้ แต่อย่าลืมว่านี่เป็นภาพยนตร์จากมุมมองของวัยรุ่น พวกเขายังเป็นแค่วัยรุ่น แม้ กิลล์กับคริสทีนร่วมทั้งอเลนและเพื่อนคนอื่นๆของเขาจะอยู่ในกลุ่มนักศึกษาหัวเอียงซ้ายที่ต่อต้านรัฐ แต่พวกเขาก็มีความเข้มข้น แก่ บาง ไม่เท่ากัน คริสทีนนั้นค่อนข้างหัวรุนแรงกว่ากิลล์ เธอไม่สนใจการเรียนและเดินทางไปกับกลุ่มต่อต้าน ส่วนกิลล์นั้นไม่อาจทิ้งการเรียนศิลปะที่เขารักไปได้
       ในทางการเมืองกิลล์อาจแปลกใจว่าทำไมคริสทีนถึงยังทนต่อสู้ทั้งที่มันยากลำบากทำไมเธอยอมๆมันบ้างไม่ได้ ในขณะที่เขาบ่นไม่พอใจที่งานศิลปของตนถูกแก้ไขก่อนตีพิมพ์ซึ่งคริสทีนกลับมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยทำไมถึงยอมไม่ได้ล่ะ.. ราวกับว่าบางคนทนมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนอื่นได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา คริสทีนเองถึงแม้จะร่วมงานอย่างเต็มตัว แต่เธอก็เริ่มตระหนักว่าตนเองทำงานเหนื่อยในขณะที่แกนนำดูเหมือนจะสบายๆ
        ในขณะที่คริสทีน ร่วมทีมถ่ายทำสารคดีเสี่ยงตาย ส่วนกิลล์นั้นกลับไปเป็นเด็กในกองถ่ายละครนิยายวิทยาศาสตร์ย้อนยุคในอังกฤษ ที่หาความสมจริงไม่ได้ เผลอมีนาซีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
          ลอล่า เครตัน นักแสดงนำหญิงในบทคริสทีนโชว์พลังความเป็นดาราอย่างเด่นชัดจนได้รับรางวัล César Awards 2013 ในสาขา César Revelations ส่วน โอลิเวียร์ แอซสาแยส ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศสก็สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเวนิซมาครอง ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
         แม้ Something in the Air จะเป็นหนังการเมืองแต่ก็เป็นหนังวัยรุ่นค้นหาตัวตนในเวลาเดียวกัน ตัวละครที่มีสเน่ห์มากคนหนึ่งคือ ลอล่า แฟนเก่าของกิลล์ เธอเป็นคนรักอิสระเสรีมีความเป็นศิลปินสูง แม้เธอจะดูเป็นพวกฮิปปี้ขี้ยา มั่วเซ็กส์ กิลล์มักจะนำงานศิลปะของเขาไปให้เธอดูและวิจารณ์ว่าชอบชิ้นไหน และประโยคหนึ่งที่ ลอล่าพูดกับกิลล์ว่า "คุณโชคดีที่รู้ว่าคุณต้องการเป็นอะไร" เพราะจริงๆแล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสนั้น บางคนแก่แล้วก็ยังไม่รู้ตัวเองทำอะไรลงไป  








Popular Posts